คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3429/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับมอบงานและจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมดรวมทั้งงานงวดที่ 6 ซึ่งเป็นงานงวดสุดท้ายโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับมอบงานนั้นแล้วทั้งชำรุด บกพร่องโดยมิอิดเอื้อน โจทก์ผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างที่หักเป็นประกันให้แก่โจทก์ สัญญาจ้างระบุว่าหากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการให้กระทำในกรุงเทพมหานคร ดังนี้ มิได้บังคับว่าหากมีข้อพิพาทคู่สัญญาจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร โจทก์ทำหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้าร้อยละสิบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันโจทก์ทำงานตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวแล้ว และจำเลยได้รับมอบงานงวดสุดท้ายกับจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้โจทก์ คงเหลือเงินประกันความเสียหายจำนวน 1,088,733 บาท ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบให้โจทก์ทันทีและมีหน้าที่ต้องส่งมอบหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้าคืนแก่โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระเงินและรับหนังสือค้ำประกันความเสียหายกับส่งมอบหนังสือค้ำประกันการรับเงินล่วงหน้าคืน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ที่ 04/25/50098 ลงวันที่25 พฤษภาคม 2525 และให้จำเลยชำระเงิน 1,088,733 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าโจทก์ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามสัญญา โดยใช้วัสดุไม่ถูกต้องตามสัญญา รวมค่าเสียหาย 1,482,907 บาท จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงและหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันความเสียหายได้ และโจทก์ยังต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยอีก สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ จำเลยกำหนดให้ระงับข้อพิพาทโดยตั้งอนุญาโตตุลาการ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,088,733 บาทพร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำกัด เลขที่ ซี 2524/0556 แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยรับมอบงานและจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งหมดรวมทั้งงานงวดที่ 6 ซึ่งเป็นงานงวดสุดท้ายโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาทำให้จำเลยต้องเสียหายตามที่จำเลยให้การประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 598 บัญญัติว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย” ดังนี้ แม้ถึงหากจะรับฟังตามที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทำงานตามสัญญาไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้อาคารที่ก่อสร้างเสียหายเมื่อปรากฏว่าจำเลยรับมอบงานและจ่ายค่าจ้างงานทั้งหมดรวมทั้งงานงวดที่ 6 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายโดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน งานที่โจทก์ทำชำรุดบกพร่องโดยชัดแจ้งย่อมถือว่าจำเลยรับมอบงานที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อน โจทก์ผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดการที่ทำชำรุดบกพร่อง จำเลยจะกล่าวอ้างว่าที่ต้องรับมอบเพราะมีความจำเป็นไม่ได้เพราะกฎหมายให้สิทธิจำเลยที่จะรับมอบงานนั้นโดยโต้แย้งไว้ได้ แต่จำเลยละเลยไม่ใช้สิทธิตามกฎหมาย เป็นความผิดพลาดของจำเลยเอง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างที่หักเป็นประกันแก่โจทก์ตามฟ้อง คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญา และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อนำสืบว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาอีกต่อไปส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทก่อน ปรากฏว่าโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาว่าจ้างรายพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 พร้อมคำแปลที่แก้ไขแล้วเป็นภาษาไทย ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งว่าคำแปลนั้นไม่ถูกต้อง มีข้อความว่า หากมีการตั้งอนุญาโตตุลาการกันขึ้นให้กระทำในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวจึงหาได้บังคับว่าหากมีข้อพิพาทคู่สัญญาจะต้องตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยมิต้องมีการตั้งอนุญาโตตุลาการเสียก่อนตามฎีกาของจำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์10,000 บาท”.

Share