แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างเหมา กำหนดให้ปรับราคาค่างานตามราคาวัสดุที่ขึ้นลงเกินกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไป ซึ่งเรียกว่าค่า ‘เค’ ได้ และเงื่อนไขในสัญญาที่ว่า คู่กรณีตกลงกันให้นำเอาสูตรการคำนวณค่าเคมาใช้ในการคิดคำนวณค่างานที่จะจ่ายจริงให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ย่อมต้องถือว่าคู่สัญญาต่างมีเจตนาที่จะใช้สูตรคำนวณค่าเคนี้ ต่องานจ้างเหมาทั้งหมดในทุกรายการแม้ในสัญญาจะมิได้ระบุการแยกส่วนของเนื้องานออกเป็นแต่ละประเภทไว้ก็ตาม ก็หาเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ชำระราคาค่างานเพิ่มให้แก่โจทก์ไม่
เดิมโจทก์จำเลยตกลงกันให้การจ้างเหมางานพิพาทเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2522 และโจทก์ก็ได้ส่งมอบงานครบถ้วนตรงตามกำหนดระยะเวลาในสัญญา ต่อมาภายหลังที่กำหนดเวลาในสัญญาฉบับแรกสิ้นสุดลงทั้งการส่งมอบงานก็เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ได้มีการแก้ไขสัญญาย่นระยะเวลาให้สั้นเข้ามาจากสัญญาเดิมอีก 1 เดือน ดังนี้เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานครบถ้วนตามสัญญาจ้างเหมาจนเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว การที่มาแก้ไขสัญญากันในภายหลังแล้วถือเอาเงื่อนไขจากระยะเวลาที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสาเหตุว่าโจทก์ผิดสัญญานั้นย่อมไม่มีผลบังคับ เพราะขณะส่งมอบงานโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาแต่ประการใด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2521 จำเลยได้จ้างโจทก์ปรับปรุงถนนด้านหลังสวนจตุจักรตามสัญญาเลขที่ 251/2521 ลงวันเดือนปีข้างต้นเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ระหว่างสัญญาโจทก์จำเลยได้ตกลงกันแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเกี่ยวกับการปรับราคาหลายครั้ง โจทก์ทำการก่อสร้างเสร็จและจำเลยรับมอบงานเป็นการถูกต้องเรียบร้อยแล้วแต่ยังค้างค่าจ้างโจทก์อยู่ 476,369.05บาทจึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงถนนตามฟ้องและเป็นสัญญาที่ปรับค่างานได้ แต่โจทก์คิดค่างานที่เพิ่มไม่ถูกต้องตามสัญญาจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ครบถ้วนแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 476,369.05 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาจ้างเหมาตามเอกสารหมาย จ.3 ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะให้ใช้สูตรในการคำนวณปรับราคาค่าของงานที่เพิ่มหรือลดหรือที่เรียกว่าค่าเค (K) ต่องานจ้างเหมาสร้างพื้นถนนคอนกรีตและสร้างคันหินรางตื้นด้วยหรือไม่ ปรากฏเงื่อนไขตามสัญญาในเอกสารหมาย จ.3ข้อ 2 ว่าคู่กรณีตกลงกันให้นำเอาสูตรคำนวณค่าเคมาใช้ในการคิดคำนวณค่างานที่จะจ่ายจริงให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างในเบื้องต้นจึงต้องถือว่าคู่สัญญาต่างมีเจตนาที่จะให้ใช้สูตรคำนวณค่าเคนี้ต่องานจ้างเหมาทั้งหมดในทุกรายการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั่นเอง โดยเฉพาะรายการจ้างเหมาที่พิพาทกันนี้ มีเนื้องานที่คิดเป็นราคาสูงกว่ารายการอื่นดังนั้นการที่จำเลยจะอ้างว่าไม่มีสูตรค่าเคที่จะคิดคำนวณค่าของงานจ้างเหมาที่เพิ่มขึ้นในสองรายการนี้ เพราะตามสัญญาไม่ได้แยกเนื้องานออกเป็นแต่ละประเภทไว้โดยเฉพาะว่าส่วนใดเป็นผิวถนนคอนกรีตและส่วนใดเป็นพื้นฐานของถนน จึงไม่อาจคิดคำนวณราคาได้ แล้วอ้างเอาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการแปลเจตนาของคู่สัญญาว่าเป็นเพราะโจทก์จำเลยไม่ประสงค์จะให้ใช้สูตรค่าเคในการคิดคำนวณราคาค่างานที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงสำหรับงานจ้างเหมาในส่วนนี้ ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวหากเป็นไปตามที่จำเลยว่าแล้วจะมีผลทำให้จำเลยพ้นจากข้อผูกพันในการที่จะต้องชำระราคาค่างานที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าการตีความเช่นนี้ฝืนต่อข้อเท็จจริงทำให้ฝ่ายจำเลยได้เปรียบและไม่เป็นธรรมนอกจากนี้ปรากฏตามคำเบิกความของนายเจน อินทุโสมาซึ่งเป็นหัวหน้างานควบคุมการก่อสร้างของจำเลยเองว่า แม้เอกสารหมาย จ.3 จะไม่ได้แยกราคาของเนื้องานไว้ แต่ก็ได้ระบุความหนาของพื้นผิวคอนกรีตและส่วนพื้นฐานไว้ว่ามีความหนาเท่าใด ซึ่งทำให้สามารถคิดคำนวณเนื้องานแต่ละส่วนนี้ได้ว่าเป็นเท่าใดทั้งสูตรในการผสมคอนกรีตก็ดีในการทำพื้นฐานก็ดีได้มีกำหนดไว้แล้วดังนั้น แม้ในสัญญาจะมิได้ระบุการแยกส่วนของเนื้องานไว้ดังที่จำเลยต่อสู้ก็หาเป็นเหตุผลเพียงพอที่จำเลยจะอ้างมาเพื่อปฏิเสธความผูกพันตามสัญญาซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระราคาเพิ่มให้แก่โจทก์ไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปจำเลยฎีกาว่าโจทก์คิดค่าเคในเดือนสิงหาคม 2522ซึ่งเป็นเดือนที่โจทก์ส่งมอบงานไม่ถูกต้อง ความจริงค่าเคจะต้องคิดในเดือนกรกฎาคม 2522 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา แต่เพราะโจทก์ทำงานล่าช้าจึงมาส่งมอบงานเอาในเดือนสิงหาคม ทั้งค่าเคในเดือนกรกฎาคมก็ถูกกว่าในเดือนสิงหาคม สำหรับปัญหาข้อนี้ปรากฏว่าในชั้นเดิมโจทก์จำเลยตกลงกันให้การจ้างเหมางานดังกล่าวเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2522 และโจทก์ก็ได้ส่งมอบงานครบถ้วนตรงตามกำหนดระยะเวลาในสัญญา ซึ่งจำเลยก็ยอมรับในข้อนี้ แต่ต่อมาภายหลังได้มีการแก้ไขสัญญาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2524 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่กำหนดเวลาในสัญญาฉบับแรกสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งการส่งมอบงานก็เสร็จเรียบร้อยไปแล้วดังกล่าวเป็นว่า งานจ้างเหมานี้จะต้องเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2522คือย่นเวลาให้สั้นเข้ามาจากสัญญาเดิมอีก 1 เดือนดังนี้เห็นว่าเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติงานครบถ้วนตามสัญญาจ้างเหมาจนเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว การที่มาแก้ไขสัญญากันในภายหลัง แล้วถือเอาเงื่อนไขจากระยะเวลาที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสาเหตุว่าโจทก์ผิดสัญญานั้นจึงย่อมไม่มีผลบังคับแต่ประการใดเพราะความจริงในขณะส่งมอบงานโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญา ดังนั้นการที่โจทก์คิดคำนวณค่าเคในเดือนสิงหาคมจึงถูกต้องแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.