คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2964/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สิทธิตามสัญญาจะซื้อขายของเจ้ามรดกในฐานะผู้ที่จะซื้อนั้นเป็นทรัพย์สินที่เป็นมรดกตก ทอดแก่ทายาท ทายาทจึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อขายนี้ให้แก่บุคคลอื่นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า นายเทศ สายัณห์ ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่นางสมบัติ ก้อนทรัพย์ เป็นเงิน 900,000 บาทโดยวางมัดจำไว้ 92,000 บาท ต่อมา นายเทศและนางสมบัติได้ถึงแก่กรรมโดยมีจำเลยทั้งสามเป็นทายาทของนายเทศ ทายาทของนางสมบัติได้โอนสิทธิเรียกร้องของนางสมบัติให้โจทก์และได้แจ้งการโอนสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทั้งสามทราบแล้วและได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือคนใดคนหนึ่งในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายเทศโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และรับเงินค่าที่ดินที่เหลือจำนวน 818,000 บาท ไปจากโจทก์ในวันทำนิติกรรม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสามให้การประการหนึ่งว่า ทายาทของนางสมบัติไม่มีอำนาจโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายของจำเลยแต่ฟังว่านางสมบัติผิดสัญญาและมีการบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายรายนี้แล้วโจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องอีกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท แทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือคนหนึ่งคนใดในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายเทศ สายัณห์ ทำนิติกรรมจดทะเบียนสิทธิต่อนายอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โอนขายที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 188 หมู่ที่ 10 และ น.ส.3 เลขที่ 90, 624หมู่ที่ 12 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวม 2 แปลงให้แก่โจทก์ตามสัญญาและรับเงินค่าที่ดินที่ค้างชำระอยู่อีก 808,000บาท ไปจากโจทก์ในวันที่ทำนิติกรรม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวม 12,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายเทศ สายัณห์ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสมบัติ ก้อนทรัพย์ ตามที่โจทก์ฟ้องจริงนางสมบัติมิได้ผิดสัญญา สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทยังมีผลบังคับกันอยู่ จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “…นางสมบัติถึงแก่กรรมโดยอุบัติเหตุรถชนกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2522 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ บุตรทั้งสามจึงเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางสมบัติรวมทั้งสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทด้วย จึงมีอำนาจที่จะโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้แก่โจทก์ได้ได้ความว่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2523 บุตรทั้งสามของนางสมบัติได้ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ หลังจากนั้นก็ได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปให้จำเลยทั้งสามทราบแล้ว โจทก์จึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาโดยชอบข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ประเด็นข้อสุดท้ายมีว่า ผู้ซื้อได้ชำระราคาแล้วเพียงใด เห็นว่าตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.10 มีข้อความระบุไว้ชัดว่านายเทศกับนางสมบัติตกลงซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลงในราคา900,000 บาท และนางสมบัติได้วางมัดจำให้แก่นายเทศผู้จะขายไว้แล้วเป็นเงิน 92,000 บาท เงินมัดจำนี้โจทก์ให้ถือเป็นการชำระหนี้บางส่วนผู้ซื้อจึงชำระราคาแล้วเป็นเงิน 92,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าชำระให้เพียง 50,000 บาท ก็โดยที่จำเลยที่ 1 คิดจากหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายฉบับของจำเลย ซึ่งไม่ใช่ฉบับที่แท้จริง ไม่อาจรับฟังตามนั้นได้ โจทก์ยังต้องชำระเงินให้จำเลยอีก 808,000 บาท เท่านั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาทแทนโจทก์”.

Share