แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 เพราะแม้จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ก็ไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 กับโจทก์ โดยให้สัญญาว่า หากจำเลยที่ 1 ทำความเสียหายต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยอมรับผิดชดใช้แทนจำเลยที่ 1 จนหมดสิ้น จำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานช่าง ได้จดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าของผู้ใช้กระแสไฟฟ้าด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยได้รับเงินค่ากระแสไฟฟ้าจากผู้ใช้กระแสไฟฟ้าน้อยลงไปคิดเป็นเงิน 22,447.16 บาทขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 22,447.16 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 เครื่องวัดกระแสไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 แต่ละเครื่องมีตัวเลข 4หลัก แต่ที่บ้านของผู้ใช้กระแสไฟฟ้ารายเกิดเหตุมีตัวเลข5 หลัก เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1ทราบ ทำให้จำเลยที่ 1 จดตัวเลขผิดพลาดโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เกิดเหตุ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มีนายวีระ ปิตรชาติเป็นผู้ว่าการ ได้มอบอำนาจให้นายเนิน ศรียมก ฟ้องคดีนี้ แต่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการทำงานตามวิสัยและพฤติการณ์ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด คดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ยกปัญหาโต้เถียงในชั้นอุทธรณ์ข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ปัญหาข้ออื่นจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ปฏิบัติงานในการจดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าของผู้ใช้กระแสไฟฟ้าด้วยความระมัดระวังในการทำงานนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการโดยประมาททำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีโจทก์จะขาดอายุความหรือไม่ ตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะประเด็นข้อ 5 เรื่องอายุความ ส่วนประเด็นข้ออื่นยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ยกขึ้นอุทธรณ์เพียงข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์จึงชอบแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการทำงานตามวิสัยและพฤติการณ์ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้แต่ประการใด จึงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องดังนั้น แม้จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความก็ไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์.