แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนายท่ารถโดยสารประจำทางของจำเลย ได้ปล่อยรถโดยสารประจำทางคันสุดท้ายออกจากท่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อไปยังท่ามีนบุรีโจทก์โดยสารไปกับรถคันนั้นเพื่อกลับบ้านด้วยโจทก์สั่งให้ ช.พนักงานขับรถขับออกนอกเส้นทางเลี้ยวรถเข้าไปส่งโจทก์ที่บ้านซึ่งห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่อช.ส่งโจทก์แล้วได้กลับรถ แต่รถติดหล่ม โจทก์จึงใช้รถส่วนตัวนำผู้โดยสารอีก 3 คนที่เหลืออยู่ไปส่งที่ท่ามีนบุรี หลังจากนั้นได้นำรถยกไปยกรถเสร็จประมาณ 2 นาฬิการถจึงกลับไปถึงอู่ช้ากว่ากำหนด โจทก์ได้ทำบันทึกในบิลทำงาน พขร.ของช.ว่าน้ำมันไม่ขึ้น ก.ม.4 เสร็จเวลา 2 นาฬิกา อันเป็นเท็จ และในการขับรถออกนอกเส้นทางทำให้จำเลยสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงไป 2.19ลิตร คิดเป็นเงิน 15.50 บาทถึงแม้การขับรถออกนอกเส้นทางของ ช.เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีอำนาจสั่งการเช่นนั้น เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายต้องสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งการทำบันทึกเท็จดังกล่าวเป็นการกระทำโดยเจตนาปกปิดการกระทำผิดของโจทก์ด้วย จึงเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัย ฯ ข้อ 8.5 จำเลยมีอำนาจลงโทษไล่ออกได้ตาม ข้อ 8 ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมทั้งเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างดจทก์เป็นนายท่าปล่อยรถโดยสารประจำทางสย 26, 27 จำเลยได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยไล่โจทก์ออกจากงาน โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากจำเลยมิอาจปฏิบัติตามดังกล่าวก็ให้จำเลยชำระค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จและค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้นายชาลี หวังโซ๊ะ พนักานขับรถ นำรถโดยสารออกนอกเส้นทางโดยมิได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 6/2528เป็นกรณีร้ายแรง เพื่อปกปิดการกระทำผิดดังกล่าวโจทก์ได้นำใบบิลทำานของนายชาลี มาบันทึกข้อความเท็จ การกระทำของโจทก์ผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคบของจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับคำสั่งองค์การ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากพนักงานซึ่งชอบด้วยข้อบังคับจำเลย ฉบับที่ 46 ข้อบังคับจำเลยฉบับที่ 46 และ 47 ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมพร้อมจ่ายค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า ขอ้เท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งนายท่าปล่อยรถโดยสารประจำทางสาย 26, 27 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 เวลาประมาณ 24.00 นาฬิกาโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ปลอ่ยรถโดยสารประจำทางสาย 26 คันสุดท้ายโดยมีนายชาลี หวังโซ๊ะพนักงานขับรถออกจากท่าอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังมีนบุรี แล้วโจทก์ได้โดยสารไปในรถคันนั้นกลับบ้านพักของโจทก์ที่บางชัน ถนนรามอินทราด้วย เมื่อไปถึงปากซอยวัดบางชันโจทก์ได้สั่งให้นายชาลีพนักงานขับรถออกนอกเส้นทางเลี้ยวรถเข้าไปส่งโจทก์ที่บ้านซึ่งห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ เมื่อนายชาลีได้ส่งโจทก์แล้วได้ทำการกลับรถ แต่รถติดหล่มไม่สามารถนำรถกลับอู่ได้ โจทก์จึงได้นำรถส่วนตัวนำผู้โดยสารอีก 3 คนที่เหลืออยู่ไปส่งที่ท่ารถมีนบุรี หลังจากนั้นจึงได้นำรถยกไปทำการยกรถที่ติดหล่มแล้วเสร็จเวลาประมาณ 2.00นาฬิกา เป็นเหตุให้รถกลับไปถึงอู่ช้ากว่ากำหนด โจทก์จึงได้นำบันทึกในบิลทำงาน พชร.ของนายชาลี เอกสารหมาย ล.4 ว่าน้ำมันไม่ขึ้น ก.ม.4 เสร็จเวลา 02.00 น. อันเป็นเท็จ และในการขับรถออกนอกเส้นทางครั้งนี้ทำให้องค์การสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงไป 2.19 ลิตร คิดเป็นเงินจำนวน 15 บาท 50 สตางค์แล้ววินิจฉัยว่า แม้การขับรถออกนอกเส้นทางของนายชาลีพนักงานขับรถเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งที่ 6/2523 เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สั่งให้นายชาลีขับรถออกนอกเส้นทางโดยไม่มีอำนาจสั่งการเช่นนั้น เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายโดยต้องสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงไปจำนวน 2.19 ลิตรเป็นเงิน 15 บาท 50 สตางค์ อีกทั้งการที่โจทก์บันทึกเท็จดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำโดยเจตนาปกปิดการกระทำความผิดของตนด้วย ดังนี้ กรณีจึงเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุให้เสียหายแก่องค์การอย่างร้ายแรง ตามข้อ 8.5 จำเลยจึงมีอำนาจลงโทษไล่ออกตามข้อ 8 แห่งข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 แล้ว หาใช่เป็นการรายงานเท็จตามข้อ 9.6 เพียงประการเดียวไม่ ส่วนการที่จำเลยลงโทษภาคทัณฑ์นายชาลีพนักงานขับรถนั้น ก็หาได้ทำให้การกระทำความผิดอย่างร้ายแรงของโจทก์นั้นกลับกลายเป็นความผิดไม่ร้ายแรงไปด้วยไม่ เพราะลักษณะความผิดของโจทก์กับนายชาลีแตกต่างกันดังนั้น การที่จำเลยลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานตามคำสั่งเอกสารท้ายคำฟ้อง หมาย 1 จึงชอบด้วยข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 เอกสารหมาย ล.2 แล้วถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจท์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย
สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่าการที่โจทก์กระทำการโดยไม่คำนึงถึงผู้โดยสารอีก 3 คน ซึ่งต้องเสียเวลาในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางโดยใช่เหตุ แต่โจทก์กลับใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้รับความสะดวกสบายโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายใด ๆ เช่นนี้ จึงเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา583 ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
สำหรับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า นอกจากการกระทำของโจทก์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และถูกลงโทษไล่ออกแล้ว ยังเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฉบับที่ 46 ว่าด้วยวินัยการสอบสวนการลงโทษและการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานข้อ 4.3 ที่กำหนดว่า’ต้องตั้งใจปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบคำสั่งแบบแผนและวิธีปฏิบัติขององค์การ ฯ…’ อีกกรณีหนึ่งเช่นนี้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3)
พิพากษายืน.