คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 หมั้นและทำการสมรสกันในวันนั้นเองหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาก็มอบตัวจำเลยที่ 1 ให้ไปอยู่กินกับโจทก์ที่ 1 ทันที โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้พากันไปไหว้ พระในที่ต่าง ๆ จนถึงตอนเย็นได้รับประทานอาหารด้วยกันแล้วจึงส่งตัวเข้าหอ โดยจำเลยที่ 1 มิได้อิดเอื้อน แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีด้วยเพราะเหน็ดเหนื่อยไม่มีอารมณ์ที่จะร่วมเพศ ทั้งจำเลยที่ 1 เพิ่มมีอายุเพียง 19 ปี ไม่เคยสมรสมาก่อน อาจจะยังกลัวต่อการร่วมประเวณีจึงได้ขอผัดผ่อนไปก็ได้ โจทก์ที่ 1 จึงควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้ผัดผ่อนตามที่ร้องขอ ไม่ควรวู่วาม เอาแต่ใจตัวจะต้องร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ในคืนนั้นให้ได้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์ร่วมประเวณีดังกล่าวจึงยังไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะถือว่าจำเลยทั้งสองทำกลฉ้อฉลไม่ได้ การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะ โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนและเรียกแหวนหมั้นกับเงินสินสอดคืนจากจำเลยทั้งสองได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลถึงขนาดทำให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อแสดงเจตนาหมั้นและจดทะเบียนสมรสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อจำเลยทั้งสองจะได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อในอุบาย จึงส่งมอบแหวนหมั้น ราคา 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และเงินสินสอด 110,000บาท ให้จำเลยที่ 2 ในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 ครั้นถึงเวลา 22.30 น.ของวันนั้นเองจำเลยที่ 1 ไม่ยอมเข้าอยู่กินหลับนอนเป็นภริยาโจทก์ที่ 1 ตามประเพณีการสมรสทั่วไปและขอกลับบ้าน โจทก์ทั้งสองไม่อาจบังคับขืนใจจำเลยที่ 1 ได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนของหมั้นและเงินสินสอดแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ของหมั้นและเงินสินสอดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองแล้วตั้งแต่โจทก์แสดงเจตนายกให้จำเลยและจำเลยที่ 1 ทำการสอบสวนกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการฉ้อฉลโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรชายโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นบุตรสาวจำเลยที่ 2 บ้านโจทก์ที่ 2 อยู่ที่อำเภอแม่ริม บ้านจำเลยที่ 2 อยู่ที่อำเภอสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 โจทก์ที่ 2ได้ทำพิธีหมั้นจำเลยที่ 1 ให้กับโจทก์ที่ 1 และได้จดทะเบียนสมรสกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน ในการนี้โจทก์ที่ 2ได้มอบแหวนเพชรให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นของหมั้น 1 วง และมอบเงินสินสอดให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวนหนึ่ง เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วจำเลยที่ 2 ได้มอบตัวจำเลยที่ 1 ให้ไปอยู่กับโจทก์ที่ 1 ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 ที่อำเภอแม่ริมในวันนั้น ปรากฏว่าในคืนนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีด้วยโจทก์ที่ 2 จึงให้นายทองดี ขันทมณี พ่อสื่อและนางคำใส วรวัลย์ พี่สาวโจทก์ที่ 2พาตัวจำเลยที่ 1 ไปส่งที่บ้านจำเลยที่ 2 ที่อำเภอสันทรายในคืนนั้นเอง และจำเลยที่ 1 ไม่ได้กลับมาอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ที่ 1 อีก ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลยทั้งสอง การสมรสเป็นโมฆียะและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสนั้น กับมีสิทธิเรียกแหวนหมั้นและเงินสินสอดคืนจากจำเลยทั้งสองหรือไม่เพียงใด
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ไม่นำตัวโจทก์ที่ 1 เข้าสืบคงมีตัวโจทก์ที่ 2 และอ้างนางคำใส วรวัลย์ กับนายทองดี ขันทมณี เป็นพยานโจทก์ที่ 2 และนายคำใสเบิกความว่าคืนเกิดเหตุสอบถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1บอกว่าที่ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีเพราะไม่ได้รักโจทก์ที่ 1 และถูกจำเลยที่ 2 บิดาบังคับให้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และนางคำใสดังกล่าวขัดกับคำนายทองดีและขัดต่อเหตุผล ได้ความตามคำนายทองดีว่าคืนเกิดเหตุโจทก์ที่ 2ไปตามนายทองดีมาที่บ้านโจทก์ที่ 2 ก็บอกนายทองดีแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมหลับนอนกับโจทก์ที่ 1 ไม่ได้บอกว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้รักโจทก์ที่ 1 หรือถูกจำเลยที่ 2 บังคับให้แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใดเลย การแต่งงานรายนี้มีการสู่ขอกันตามประเพณีจำเลยที่ 1 รู้ตัวมาก่อนประมาณ 3 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่รับหรือไม่เต็มใจแต่งงานกับโจทก์ที่ 1 คงไม่มีใครบังคับได้ ปรากฏว่าเมื่อถึงวันแต่งงานจำเลยที่ 1 ก็เข้าพิธีแต่งงานตามที่ตกลงกันไว้ในวันแต่งงานมีการทำพิธีหมั้นและเชิญนายทะเบียนอำเภอสันทรายมาจดทะเบียนให้ต่อหน้าบิดามารดาของทั้งสองฝ่าย และมีการถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกด้วย หากจำเลยที่ 1 ไม่สมัครใจจะแต่งงานนายทะเบียนคงไม่จดทะเบียนสมรสให้ ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 ที่จำเลยส่งอ้างขณะทำพิธีสวมแหวนหมั้นและจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าตาท่าทางเป็นปกติ ไม่มีอะไรส่อให้เห็นว่าไม่เต็มใจจะแต่งงานกับโจทก์ที่ 1 เลย เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว จำเลยที่ 2 ก็มอบตัวจำำเลยที่ 1ให้ไปอยู่กินกับโจทก์ที่ 1 ทันที ไม่มีการหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมมอบตัวแต่ประการใด ตามคำนางคำใสคืนเกิดเหตุเมื่อได้ฤกษ์ส่งตัว โจทก์ที่ 2บอกให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เข้านอน จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้อิดเอื้อนได้เข้าห้องที่จัดไว้เป็นห้องหอกับโจทก์ที่ 1 ขณะนั้นโจทก์ที่ 2 ก็ว่าจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนอนแล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 เตรียมตัวและตั้งใจมาเป็นภรรยาโจทก์ที่ 1 จริง ๆ คดีนี้จำเลยที่ 1 เบิกความว่าที่ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีเพราะวันนั้นไปเที่ยวมาหลายแห่งรู้สึกเหนื่อยได้บอกให้โจทก์ที่ 1ว่าขอพักผ่อนในคืนนั้น คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีเหตุผลได้ความว่าวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ 2 มอบตัวจำเลยที่ 1 ให้ฝ่ายโจทก์แล้ว ฝ่ายโจทก์ได้พาจำเลยที่ 1 ไปไหว้พระที่จังหวัดลำพูนที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และไปไหว้พระพุทธบาทตากผ้าที่จังหวัดลำพูนอีก โจทก์ที่ 2 เบิกความว่าเดินทางกลับไปถึงบ้านเมื่อเวลา 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 อาจเหน็ดเหนื่อยไม่มีอารมณ์ที่จะร่วมเพศ ประกอบกับขณะนั้นจำเลยที่ 1 เพิ่งมีอายุได้เพียง 19 ปี ไม่เคยสมรสมาก่อนจะจะยังกลัวต่อการร่วมประเวณีจึงได้ขอผัดผ่อนไปก็เป็นได้ โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใหญ่กว่า ขณะแต่งงานกับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 มีอายุได้ 30 ปีแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์ที่ 1 เคยมีภรรยามาก่อน จึงน่าจะเข้าใจและเห็นใจจำเลยที่ 1บ้าง ตามคำจำเลยที่ 1 ก็ขอพักผ่อนเพียงคืนนั้นคืนเดียว ไม่มีเจตนาที่จะไม่ร่วมประเวณีกับโจทก์ที่ 1 ตลอดไป โจทก์ที่ 2 เองก็เบิกความว่าจำเลยทั้งสองมีฐานะดีไม่คิดว่าจะหลอกลวงโจทก์ที่ 2โจทก์ที่ 1 ก็ต้องทราบความจริงข้อนี้ได้ และควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้พักผ่อนตามที่ขอร้อง ไม่ควรวู่วามเอาแต่ใจตัวจะต้องร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 ในคืนนั้นให้ได้ การที่จำเลยที่ 1ไม่ยอมให้โจทก์ที่ 1 ร่วมประเวณีดังกล่าว จึงยังไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 และจะถือว่าจำเลยทั้งสองทำกลฉ้อฉลไมด่ได้การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะ โจทก์ไม่มีสิทธิขอเพิกถอนและเรียกแหวนหมั้นกับเงินสินสอดคืนจากจำเลยทั้งสองได้ ปัญหาว่าแหวนหมั้นและเงินสินสอดมีราคาและจำนวนเท่าใดไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้วฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share