แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต กับฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายหรือจำหน่าย กฎหมายมีเจตนารมณ์ในการวางโทษหนักเบาต่างกัน โดยแยกบัญญัติไว้ในมาตรา 69 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังนั้นมาตรา 69 วรรค 3 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 จึงมีวัตถุประสงค์ให้ขยายความเฉพาะ ความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งมอร์ฟีน คาเฟอีน รวมทั้งฝิ่นที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ตามมาตรา69 วรรคสองเท่านั้น การที่จำเลยมีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต จึงต้องวางอัตราโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฝิ่นดิบหนัก 0.2 กรัม และมูลฝิ่นหนัก 0.94กรัมอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตและมีสายชนวนฝักแคยาว 5.38 เมตร จำนวน 1 เส้น อันเป็นวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีฝิ่นดิบและมีมูลฝิ่นไว้ในครอบครอง จำคุำ 6 เดือน ฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงลงโทษจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะข้อหามีฝิ่นดิบและมูลฝิ่นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า วัตถุของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นฝิ่น จึงต้องวางโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528มาตรา 6 ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยตามมาตรา 69 วรรคหนึ่งเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 69 ได้บัญญํติหลักการของการกระทำความผิดไว้ 2ประการ คือ ประการแรก วางโทษผู้มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีแลปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทประการที่สอง วางโทษผู้จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โดยบัญญัติไว้ในวรรคสอง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงเห็นได้ชัดว่าอัตราโทษ การมีไว้ในครอบครองกับอัตราโทษการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายแตกต่างกันโดยอัตราโทษการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายจะสูงกว่าอัตราโทษการมีไว้ในครอบครอง ทั้งนี้เพราะการมีไว้ในครอบครองเป็นภัยเฉพาะตัวของผู้มีไว้ในครอบครองเท่านั้น แต่การจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นภัยต่อสังคมเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงกฎหมายจึงมีเจตนารมณืที่จะวางโทษผู้ที่จำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายให้หนักกว่าผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ฉะนั้นถ้าจะแปลความว่ามาตรา 69วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มีความหมายคลุมไปถึงวรรคหนึ่งด้วยแล้วจะเห็นชัดว่าการมียาเสพติดให้โทษที่เป็นมอร์ฟีนหรือโคคาอีนหรือฝิ่นซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดไว้ในครอบครองกับการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษดังกล่าวจะมีอัตราโทษเท่ากันคือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสองแสนบาทในจำนวนยาเสพติดให้โทษไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นการผิดหลักการดังกล่าวข้างต้น อีกประการหนึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราโทษของผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ เฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงตามมาตรา 67 กำหนดอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ชัดว่า อัตราโทษของผู้ที่มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ต่กว่าอัตราโทษของผู้ที่มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 จำพวกมอร์ฟีนโคคาอีน และฝิ่น น่าจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราโทษน่าจะได้กำหนดอัตราโทษลดหลั่นกันลงมาตามความร้ายแรงของชนิดและประเภทของยาเสพติดให้โทษกล่าวคือ ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ชนิดเฮโรอีนน่าจะสูงกว่ายาเสพติดประเภทอื่น ๆ ในการกระทำความผิดอย่างเดียวกันด้วยเหตุผลดังกล่าว เห็นว่า ข้อความในมาตรา 69 วรรคสาม ของพระราชบัญญัตินี้ขยายความในวรรคสอง คือบทบัญญัติมาตรา 69 วรรคสามหมายความเฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมอร์ฟีน โคคาอีน รวมทั้งฝิ่นที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมเท่านั้น คดีนี้จำเลยมีฝิ่นดิบไว้ในครอบครองหนัก 0.2 กรัม กับมูลฝิ่นหนัก 0.94 กรัม จึงต้องวางอัตราโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคหนึ่งดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาถูกต้องแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งให้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 69 วรรคสามและวรรคสี่นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 มาตรา 6นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.