แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 10 บัญญัติว่าบรรดาค่าภาษีนั้นให้เก็บตามบทพระราชบัญญัติและตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร นั่นก็คือ เก็บภาษีอากรตามราคาตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 8(2) และราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามวิเคราะห์ศัพท์ในพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2468 มาตรา 2 หมายถึง ราคาขายส่งหรือราคาที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ การที่จำเลยสั่งชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงราคาในใบขนตามราคาที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาอะไหล่ประมาณร้อยละ 75 ราคาที่จำเลยแสดงในใบขนจึงเป็นราคาส่งหรือราคาสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ จึงถูกต้องตรงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นการสำแดงราคาอันเป็นเท็จ
เมื่อจำเลยผู้นำเข้าได้สำแดงราคาหรือแสดงราคาอันแท้จริงในท้องตลาด คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับราคาทางศุลกากรหามีอำนาจที่จะกำหนดให้จำเลยเพิ่มราคาสินค้าที่นำเข้าให้สูงผิดไปจากราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไม่เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่คณะกรรมการฯที่จะกระทำได้เช่นนั้น อำนาจของคณะกรรมการ ฯ ที่จะกระทำได้เพียงเฉพาะกรณีที่มีปัญหาว่า ผู้นำเข้าสำแดงราคาสินค้าในใบขนต่ำไปกว่าราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่เท่านั้น
การที่ทางราชการสืบทราบว่า ผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์หาได้นำชิ้นส่วนไปประกอบรถยนต์ทั้งหมดไม่ แต่ได้นำบางส่วนมาจำหน่ายในลักษณะของอะไหล่ที่มีราคาสูงกว่า เป็นผลให้รายได้ภาษีอากรต้องขาดไปนั้น วิธีแก้ไขก็ด้วยทางราชการจะต้องกำหนดอัตราภาษีอากรชิ้นส่วนให้สูงกว่าอะไหล่มิใช่แก้ไขโดยมติของคณะกรรมการ ฯ ให้เพิ่มราคาชิ้นส่วนในการนำเข้าอีกร้อยละ 75 เพื่อให้เท่ากับราคาของอะไหล่ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่คณะกรรมการที่จะทำได้เช่นนั้น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้นำชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรทางท่าอากาศยานโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ณ ด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพ ฯ จำนวน 248 ฉบับ (ใบขน) เพื่อชำระภาษีตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้า ต่อมาเจ้าพนักงานกองศุลกาธิการของโจทก์ที่1 ตรวจพบว่าจำเลยได้แสดงราคาในสินค้าที่นำเข้าเป็นเท็จโดยแสดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาของหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดซึ่งจำเลยทราบดีแล้วว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในลักษณะที่เป็นชิ้นส่วน (ซี.เค.ดี.) นั้นราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าหรือเอกสารอื่นประกอบการนำสินค้าเข้านั้นต่ำกว่าราคาของหรือราคาแท้จริงในท้องตลาดที่ถือเป็นเกณฑ์คำนวณอากรขาเข้า ซึ่งจำเลยจะต้องเพิ่มราคาสูงขึ้นอีกร้อยละ 75 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน1,284,648.49 บาทเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยยื่นคำให้การว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าส่วนประกอบของรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรและได้ชำระภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลครบถ้วนตามกฎหมายแล้วราคาที่จดแจ้งในใบขนสินค้าก็เป็นราคาที่ซื้อขายที่แท้จริงตามท้องตลาดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดอีกตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2464 มาตรา 13 ทวิวรรค 2โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะประเมินหรือเรียกให้จำเลยชำระภาษีเพิ่มสูงกว่าความเป็นจริงอีกร้อยละ 75 ขอให้ยกฟ้องหรือมิฉะนั้นก็ขอให้ศาลมีคำสั่งยกเว้นการเรียกเก็บเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงได้ความว่าแต่เดิมได้มีการส่งรถยนต์ที่ประกอบสำเร็จจากต่างประเทศทั้งคันและอะไหล่เข้ามาจำหน่ายแต่เมื่อประมาณปี 2503-2504 ได้มีการประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์โดยวิธีนำชิ้นส่วนซึ่งเรียกกันว่าซี.เค.ดี เข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศไทยชิ้นส่วนและอะไหล่เสียภาษีอากรในอัตราเดียวกันแต่ชิ้นส่วนมีราคาต่ำกว่าอะไหล่ประมาณร้อยละ 75 เพราะชิ้นส่วนก่อนจะนำมาประกอบเป็นรถยนต์จะต้องนำมาตกแต่งเช่นเจาะรูทาสีกันสนิมพ่นสีเสียก่อนแต่อะไหล่นั้นเป็นของที่สำเร็จมาจากต่างประเทศนำมาใช้ได้ทันทีต่อมาทางราชการสืบทราบว่าผู้ที่ส่งชิ้นส่วนเข้ามาไม่ได้นำชิ้นส่วนไปประกอบรถยนต์ทั้งหมดแต่ได้นำบางส่วนไปขายเป็นอะไหล่เป็นผลทำให้ทางราชการต้องขาดรายได้แม้อัตราภาษีจะเท่ากันคณะกรรมการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับราคาทางศุลกากรจึงได้วางหลักเกณฑ์ให้กำหนดราคาชิ้นส่วนโดยวิธีให้บวกราคาเพิ่มอีกร้อยละ 75 ทั้งนี้เพื่อให้ชิ้นส่วนและอะไหล่มีราคาเท่ากันดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวปัญหาวินิจฉัยมีว่าการที่จำเลยสั่งชิ้นส่วนเข้ามาทางท่าอากาศยานระหว่างปี 2517 ถึงปี 2520 รวมใบขน 248 ฉบับโดยมิได้เพิ่มราคาชิ้นส่วนขึ้นอีกร้อยละ 75 ตามเอกสารหมาย จ.12 นั้นจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นการสำแดงราคาอันเป็นเท็จ ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหานี้แล้วเห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 10 บัญญัติว่าบรรดาค่าภาษีนั้นให้เก็บตามบทพระราชบัญญัติและตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรนั้นก็คือเป็นภาษีอากรตามราคาตามพระราชบัญญัติกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2503 มาตรา 8 (2) ราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาด มีวิเคราะห์ศัพท์อยู่ในพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 2 ว่าหมายถึงราคาขายส่งหรือราคาที่สั่งซื้อจากต่างประเทศนั่นเอง สำหรับชิ้นส่วนที่เป็นปัญหาในคดีนี้ทั้งสองฝ่ายนำสืบได้ความตรงกันว่าจำเลยได้สำแดงราคาในใบขนตามราคาที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศซึ่งจะต่ำกว่าอะไหล่ประมาณร้อยละ 75 เมื่อเป็นดังนี้จึงเห็นได้ว่าราคาที่จำเลยแสดงในใบขน 248 ฉบับคือราคาขายส่งหรือราคาสั่งซื้อมาจากต่างประเทศนั่นเอง เพราะฉะนั้นราคาที่จำเลยสำแดงในใบขนทั้ง 248 ฉบับจึงถูกต้องตรงตามพระราชบัญญัติที่กล่าวข้างต้นหาได้เป็นเท็จดังที่กล่าวอ้างในฟ้องไม่
ส่วนในข้อที่จำเลยมิได้เพิ่มราคาอีกร้อยละ 75 ตามเอกสารหมายจ.12 นั้นเห็นว่าเมื่อผู้นำเข้าหรือจำเลยได้สำแดงราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้วคณะกรรมการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับราคาทางศุลกากรหามีอำนาจที่จะกำหนดให้ผู้นำเข้าหรือจำเลยเพิ่มราคาสินค้าที่นำเข้าให้สูงผิดไปจากราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไม่ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่คณะกรรมการ ฯ ที่จะกระทำได้เช่นนั้นอำนาจของคณะกรรมการ ฯ ที่จะกระทำได้เพียงเฉพาะกรณีที่มีปัญหาว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาสินค้าในใบขนต่ำไปกว่าราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่เท่านั้นสำหรับข้ออ้างที่ว่าในการสั่งสินค้าเข้าหรือนำสินค้าเข้าทางเรือของจำเลยในปีพ.ศ.2517, 2518, 2520 จำเลยได้ยอมเพิ่มราคาชิ้นส่วนอีกร้อยละ 75 รวมทั้งบริษัทอื่น ๆ ก็ยอมเพิ่มราคาอีกร้อยละ 75เป็นเรื่องที่ผู้นำเข้าเหล่านั้นสมัครใจเองแต่หาใช่เป็นเหตุผลที่แสดงว่าคณะกรรมการ ฯ มีอำนาจที่จะกำหนดให้ผู้นำเข้าเพิ่มราคาสินค้าที่นำเข้าให้สูงไปกว่าราคาหรือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดไม่
สำหรับข้อที่อ้างว่าทางราชการสืบทราบว่าผู้นำเข้าชิ้นส่วนหาได้นำชิ้นส่วนไปประกอบรถยนต์ทั้งหมดไม่แต่ได้นำบางส่วนมาจำหน่ายในลักษณะของอะไหล่เป็นผลให้รายได้ภาษีอากรของราชการต้องขาดไปนั้นศาลฎีกาเห็นว่าวิธีแก้ไขน่าจะอยู่ที่ทางราชการจะต้องกำหนดอัตราภาษีอากรสำหรับชิ้นส่วนให้สูงกว่าอะไหล่มิใช่แก้ไขโดยมติของคณะกรรมการที่ให้เพิ่มราคาชิ้นส่วนอีกร้อยละ75 เพื่อให้เท่ากับราคาของอะไหล่เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่คณะกรรมการ ฯ ที่จะกระทำได้เช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์’
พิพากษายืน.