คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งอนุญาตตามคำขอให้พิจารณาใหม่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษา จึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องขอพิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นคำขอที่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความขาดนัดและข้อคัดค้านคำชี้ขาดตัดสินของศาลแรงงานกลางแล้วโจทก์จะยกปัญหาที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นที่ยุติไปดังกล่าวแล้วขึ้นมาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 จำเลยที่ 1 เดินทางไปต่างประเทศก่อนถูกฟ้องและไม่เคยกลับเข้ามาประเทศไทยอีกเลย จำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถแถลงขอให้ศาลพิจารณาใหม่ภายในกำหนดเจ็ดวันตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 41 เมื่อจำเลยที่ 1มิได้จงใจขาดนัด ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้พิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 และ 209 ประกอบด้วยพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จำเลยที่ 1 ได้เดินทางออกไปจากประเทศไทยไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีและมิได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลยเมื่อเจ้าพนักงานศาลไปปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 บุตรสาวของจำเลยที่ 1 ได้พยายามที่จะส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเลื่อนการพิจารณาไปก่อน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจที่จะขาดนัด ศาลแรงงานกลางเชื่อ ตามทางไต่สวนของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัด โจทก์จะอุทธรณ์โต้เถียง ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวไม่ได้ เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ ได้ร่วมกันทุจริตปลอมเอกสารแล้วเบิกเงินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียวให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วมีคำสั่งใหม่
ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้ว มีคำสั่งให้นำคดีขึ้นพิจารณาใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่พิจารณาใหม่นี้เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อน เพราะถ้าหากเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นอันจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาไปแล้ว คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 นี้เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษา คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาดังคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลางได้
สำหรับข้ออุทธรณ์ประการแรกของโจทก์ที่ว่า ตามคำร้องลงวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 1 เพียงมีเจตนาที่จะให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเท่านั้น การที่ศาลแรงงานกลางตีความว่าคำร้องของจำเลยที่ 1 เป็นการขอให้พิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ทั้งที่คำร้องดังกล่าวมิได้กล่าวโดยละเอียดถึงข้อคัดค้านคำชี้ขาดตัดสินของศาลแรงงานกลางว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องฉบับลงวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2529 ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ว่าตามคำร้องลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 ของจำเลยที่ 1 นั้น ได้กล่าวถึงเหตุที่ตนขาดนัดเพราะไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ทราบว่าถูกฟ้อง ทั้งได้กล่าวเป็นเชิงปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ลูกจ้างของโจทก์ ไม่ได้กระทำละเมิดและกรณีไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน อันมีนัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลแรงงานกลางควรจะยกฟ้องโจทก์ได้ทันที จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งที่ตนขาดนัดและข้อคัดค้านคำชี้ขาดตัดสินของศาลแรงงานกลางแล้ว ซึ่งข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยว่า คำร้องฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เข้าเหตุที่จะขอให้พิจารณาใหม่ตราประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ได้ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นจึงเท่ากับยกปัญหาที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเป็นที่ยุติไปแล้วขึ้นมาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีก จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า ในคดีแรงงานกรณีที่จำเลยที่ 1ไม่ยื่นคำให้การและไม่มาศาลตามวันนัดที่ศาลได้ระบุในหมายเรียกนั้นชอบที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ขาดนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และ มาตรา 41แล้ว ศาลแรงงานกลางชอบที่จะมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดตามมาตรา40 จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอให้เพิกถอนคำสั่งเพื่อพิจารณาคดีใหม่ตามระยะเวลาและวิธีการที่ระบุในมาตรา 41 ฉะนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 จึงไม่ชอบนั้นพิเคราะห์แล้วศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่าตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้พิจารณาใหม่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเดินทางไปต่างประเทศก่อนถูกฟ้องและไม่เคยกลับเข้ามาประเทศไทยอีกเลยจำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถแถลงขอให้ศาลพิจารณาใหม่ภายในกำหนดเจ็ดวันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 41 ได้เป็นธรรมดาอยู่เอง จึงให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นความจริงหรือไม่อย่างไร ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัดสมควรให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีจนสิ้นกระแสความ ก็ย่อมมีอำนาจที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้พิจารณาใหม่นับแต่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 และ 209 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ได้
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการที่สามว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะต่อสู้คดีจึงเท่ากับมิได้จงใจที่จะขาดนัดเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อบทกฏหมาย เพราะตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522บัญญัติให้ศาลไต่สวนถึงเหตุจำเป็นที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจมาศาลได้ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 และ 209 ก็วางหลักไว้ว่าต้องมีเหตุควรเชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดมาศาลไม่ได้ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่โดยมิได้วินิจฉัยถึงมูลเหตุตามหลักกฏหมายดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้เดินทางออกไปจากประเทศไทยไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีและมิได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลย เมื่อเจ้าพนักงานศาลไปปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่บ้านพักของจำเลยที่ 1 บุตรสาวของจำเลยที่ 1 ได้พยายามที่จะส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ 1 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเลื่อนการพิจารณาไปก่อนแต่ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้อง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่าได้วินิจฉัยถึงเหตุจำเป็นที่จำเลยที่ 1ไม่อาจมาศาลได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจที่จะขาดนัดคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จากการไต่สวนพยานของคู่ความไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจมาศาลตามวันนัดได้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลเพียงอ้างลอย ๆ ว่า ตนป่วยแต่ก็ไม่ปรากฏว่าเจ็บป่วยประการใด การที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามนัดต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้จงใจขาดนัดแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้ออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ที่เชื่อตามทางไต่สวนของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มิได้จงใจขาดนัด จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share