คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 862/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและศาลได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การไปแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลสั่งไม่อนุญาต คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 6 ไม่โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 6 แพ้คดีโดยไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 6ขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 207.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์หลายครั้งรวมวงเงิน 900,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินไปจากโจทก์หลายคราวเป็นเงินรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 988,375.04บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20493 พร้อมค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20493 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้รายนี้ด้วยโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้รายนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 988,375.04 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของเงินต้น 866,579.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนว่าชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 6 ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 866,579.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2525 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึ่งที่ 5ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ และหรือให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 20493 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอก็ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 6ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ต่อไป
หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้วจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 6 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา หากมีการพิจารณาคดีใหม่ จำเลยที่ 6 อาจชนะคดีได้ ขอให้ไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์พิพากษา
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีได้ความว่า หลังโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้และนำส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแก่จำเลยที่ 6 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 6 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด วันที่ 10 พฤษภาคม 2526 โจทก์ยื่นคำขอให้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 6 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด จึงมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 จำเลยที่ 6ยื่นคำร้องอ้างว่าเนื่องจากความโง่เขลาเบาปัญญาและไม่รู้กฎหมายคิดว่าอาจแถลงต่อศาลในชั้นพิจารณาได้โดยไม่จำต้องยื่นคำให้การเป็นหนังสือตามที่ทนายโจทก์แนะนำจำเลยที่ 6 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การจึงขออนุญาตยื่นคำให้การสู้คดี ศาลชั้นต้นสั่งว่า พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่แสดงว่าจำเลยที่ 6 มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้อง และต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้วได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 สิงหาคม 2526 โดยได้ส่งหมายนัดแก่จำเลยทั้งหกโดยชอบแล้วก่อนถึงวันนัดคือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2526จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องว่าได้แต่งตั้งนายสุชาติ โฉมฉาย เป็นทนายแก้ต่างจำเลยที่ 6 แต่ในวันที่ 18 สิงหาคม 2526 ทนายจำเลยที่ 6ติดว่าความที่ศษลแรงงานกลางขอให้เลื่อนคดี ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องนี้ว่ารอสั่งวันนัด ครั้นถึงวันนัดจำเลยทั้งหกไม่มาศาล และโจทก์แถลงคัดค้านคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 6 ว่าเจตนาประวิงคดีศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 สิงหาคม 2526ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ขาดนัดพิจารณาและจำเลยที่ 6 ประวงคดี ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและให้โจทก์สืบพยานไปจนหมดพยานโจทก์ แล้วสั่งให้นัดสืบพยานจำเลยที่ 6 ในวันที่ 21 กันยายน 2526 เวลา 8.30 นาฬิกาครั้นถึงวันนัดโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยที่ 6 คงมาแต่นายสุชาติทนายของจำเลยที่ 6 แถลงว่าตัวจำเลยที่ 6 ไม่มาโดยไม่ทราบเหตุขัดข้องได้โทรศัพท์ไปสอบถามได้ความว่าตัวจำเลยที่ 6 ออกจากบ้านไปธุระและไม่สามารถนำสืบในตอนบ่ายวันนั้นได้ ขอให้เลื่อนคดีไปอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นการประวิงคดีให้งดสืบพยานจำเลยที่ 6 และต่อมาวันที่7 ตุลาคม 2526 จึงมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหกแพ้คดี
พิเคราะห์แล้ว เมื่อคดีได้ความว่า ภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม2526 แล้วต่อมาวันที่ 24 เดือนเดียวกัน อันเป็นวันก่อนเริ่มสืบพยานจำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาต คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 จึงเป็นคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 วรรคสอง และเป็ฯคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยที่ 6มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ส่วนที่จำเลยที่ 6ฎีกาขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยที่ 6 มิได้ขาดนัดพิจารณาจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่ตามมาตรา 207 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 6 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share