แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามหนังสือเลิกจ้างของจำเลย จำเลยได้ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ว่าโจทก์จงใจกลั่นแกล้งผสมสีพ่นไม้ให้ผิดไปจากที่เคยปฏิบัติเป็นเหตุให้สีที่พ่นไม้แดงปาร์เก้ไม่แห้ง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุโจทก์ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(2)จำเลยหาได้ระบุเหตุเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อ 47(5) ไม่ ต้องถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์โดยสาเหตุเช่นว่านี้แล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้ และศาลแรงงานกลางหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย ก็ไม่เป็นเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยให้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,050 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16และวันที่ 1 ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 กันยายน2529 กรณีนี้การบอกเลิกการจ้างของจำเลยจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็คือวันที่ 1 ตุลาคม 2529จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างในระหว่างวันที่ 2 กันยายน ถึงวันที่30 กันยายน 2529 รวมเป็นเวลา 29 วัน คิดเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,948.14 บาทแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำแล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดหลายกรณี คือทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดโดยจงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะโจทก์ได้บังอาจผสมสีพ่นไม้แดงปาร์เก้ผิดไปจากสูตรเดิมที่เคยผสม ทำให้ไม้แดงปาร์เก้จำนวน 1,500 กว่าแผ่นของจำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน 29,500บาท ขอให้พิพากษายกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน29,500 บาท ตามฟ้องแย้งแก่จำเลยด้วย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ แต่คดียังฟังไม่ถนัดว่าโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 18,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,933 บาท รวมเป็นเงิน 22,200 บาทแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย
จำเลยอุทรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนดคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ตามหนังสือเลิกจ้างของจำเลยเอกสารหมาย ล.6 จำเลยได้ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ว่า โจทก์จงใจกลั่นแกล้งผสมสีพ่นไม้ให้ผิดไปจากที่เคยปฏิบัติเป็นเหตุให้สีพ่นไม้แดงปาร์เก้ไม่แห้ง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุโจทก์ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(2) จำเลยหาได้ระบุเหตุเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อ 47(5) ไม่ ต้องถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์โดยสาเหตุเช่นว่านี้แล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้และศาลแรงงานกลางหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ก็ไม่เป็นเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยให้…” ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวม 29 วันเป็นเงิน 3,933 บาทแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 นั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,050 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16 และวันที่ 1 ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2529 ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีของโจทก์นี้การบอกเลิกจ้างของจำเลยจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็คือวันที่1 ตุลาคม 2529 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างในระหว่างวันที่ 2 กันยายน2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2529 รวมเป็นเวลา 29 วัน คิดเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,948.14 บาท แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 29 วัน เป็นเงิน 3,933 บาท แก่โจทก์เป็นการผิดพลาดไปไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 2,948.14 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”.