คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มอบเช็คพิพาทชำระหนี้ค่าจ้างตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ไม่มอบเช็คแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 3 อีก และขอให้โจทก์อายัดเช็ค โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 สัญญาว่าจะนำเช็คพิพาทมาคืนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็มิได้นำมาคืน จนโจทก์ทั้งสามถูกฟ้องและต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็ค ดังนี้เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดสัญญาไม่คืนเช็คให้ตามข้อตกลงเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย เป็นคำฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานผิดสัญญา ซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความ 10 ปีแม้คำฟ้องจะได้บรรยายเกี่ยวกับตัวการตัวแทน หรือระบุว่าจำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องละเมิด หรือลาภมิควรได้.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามจำเลยที่1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสาม 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาเป็นว่าให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคณะกรรมการจัดหาเงินช่วยมูลนิธิช่วยเหลือเด็กนักเรียนโรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ร่วมกันใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็คพิพาทโจทก์ที่ 1 ลงชื่อในสัญญาจ้างทำของโดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีส่วนได้เสียอยู่ด้วยเท่ากับฟังว่าโจทก์ทั้งสามเป็นคู่สัญญาเพราะกรรมการจัดหาเงินช่วยเหลือมูลนิธิเป็นกรรมการคนละคณะกับกรรมการของมูลนิธิซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยโจทก์ที่ 1 ลงชื่อในสัญญาแทนโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ด้วยกับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามมอบเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่มอบเช็คแก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์ชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 3 อีกและขอให้โจทก์อายัดเช็คโดยจำเลยที่ 3 สัญญาว่าจะนำเช็คพิพาทมาคืนให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่นำเช็คมาคืนให้โจทก์โจทก์ต้องชำระเงินให้แก่ผู้ทรงเช็คดังนั้นเมื่อโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่นำเช็คมาคืนให้โจทก์ โจทก์ต้องชำระเงินแก่ผู้ทรงเช็ค ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่2 ที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ทำสัญญาแทนนิติบุคคลไม่ได้ทำเป็นส่วนตัวและฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะคืนเช็คพิพาทให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 โดยอำเภอใจของโจทก์เองและจำเลยไม่ได้รับคำบอกกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจหรือสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้อเท็จจริงนี้ยุติไปแล้วในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนปัญหาเรื่องอายุความเห็นว่าตามคำฟ้องข้อ 3วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตกลงจะคืนเช็คให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่นำเช็คมาคืนแก่โจทก์และบรรยายฟ้องข้อ4 ว่าในที่สุดโจทก์ทั้งสามถูกฟ้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 และต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็คเป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดสัญญาโดยไม่คืนเช็คให้ตามข้อตกลงจนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นคำฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานผิดสัญญาแม้คำฟ้องจะได้บรรยายไว้ด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องตัวการตัวแทนหรือระบุว่าจำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นการบรรยายให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเท่านั้นถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องละเมิดหรือลาภมิควรได้กรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่นต้องใช้อายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสาม 500 บาท’.

Share