แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินสินสมรสแต่ผู้เดียว ในระหว่างสมรส จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ ย่อมทำให้ทรัพย์สินนั้นหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ และสัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และทรัพย์สินนั้นตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3)แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นต่อไป โจทก์จำเลยหย่ากัน โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินดังกล่าวได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวนั้น มิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น แต่ได้รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15668 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้าน 1 หลัง และโรงงาน 1 โรง จำเลยขออยู่อาศัยในที่ดินและบ้านนั้น บัดนี้โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่
จำเลยให้การว่า ที่ดิน บ้าน และโรงงานเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลย ต่อมาโจทก์จำเลยหย่ากันแต่ยังไม่ได้แบ่งสินสมรสจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวอยู่กึ่งหนึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งทรัพย์สินให้จำเลยกึ่งหนึ่ง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคนละเรื่องกับฟ้องโจทก์ ไม่ชอบที่ศาลจะรับไว้ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนสินสมรสของจำเลยให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาขับไล่จำเลยและยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเป็นสินส่วนตัวนั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้ ไม่รวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันในระหว่างสมรสด้วยนั้น เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 15668 ซึ่งเป็นสินสมรสนั้นเดิมมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว และตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมายเลข 2 ท้ายฟ้อง มีข้อสัญญาระบุว่าผู้ให้ยอมยกที่ดินทั้งแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้รับเป็นเด็ดขาดแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป แสดงว่าจำเลยมีเจตนายกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ โดยโจทก์และจำเลยต่างตกลงแบ่งที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินคือ บ้าน และโรงงานอันเป็นสินสมรสที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอยู่ออกเป็นสัดส่วนของแต่ละฝ่าย แล้วจำเลยยกทรัพย์สินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์ ซึ่งจากข้อตกลงดังกล่าวทำให้ที่ดิน บ้านและโรงงานหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนที่ตกลงกัน สัญญานี้เป็นสัญญาระหว่างสมรสที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ เมื่อจำเลยยกทรัพย์สินส่วนของตนทั้งหมดให้แก่โจทก์และโจทก์ได้รับทรัพย์สินมาในระหว่างสมรสเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471 (3) ให้ถือว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัวดังนั้น ที่ดิน บ้าน และโรงงาน จึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่บุคคลภายนอกเป็นผู้ยกทรัพย์สินให้เท่านั้น ฉะนั้น จึงรวมถึงกรณีที่สามีภริยายกทรัพย์สินให้แก่กันด้วยจำเลยจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวอีกต่อไป เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยอยู่ จำเลยก็ต้องออกไป
พิพากษายืน.