คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่จำเลยลงโทษตัดค่าจ้างโจทก์และให้คืนเงินค่าจ้างที่ตัดไปแก่โจทก์ มิใช่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(8)(9) ซึ่งกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ศาลแรงงานได้พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยประกอบเอกสารต่าง ๆ ในสำนวน แล้ววินิจฉัยว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นการวินิจฉัยรวมไปถึงเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดที่จำเลยอ้างแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยได้อ้างคำเบิกความของพยานจำเลยประกอบกับพยานเอกสารเพื่อให้ฟังว่าโจทก์กระทำผิดและจำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 375/2541 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2541คำสั่งที่ 103/2539 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 โดยเฉพาะส่วนของโจทก์ และให้จำเลยคืนเงินตามที่จำเลยได้ตัดเงินเดือนของโจทก์ไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวนร้อยละ 10คิดเป็นเงิน 4,032 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2521 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานบัญชีและการเงินบัญชี 1 – 2 ระดับ 3(3) ค่าจ้างเดือนละ 14,240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน วันที่ 8 สิงหาคม 2537 จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนพนักงาน 8 คน รวมทั้งโจทก์ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องกองเดินรถที่ 3 ไม่สามารถเร่งรัดจัดส่งเอกสารบัญชีตั๋วให้ทันกำหนดตามระบบตั๋ว ผลการสอบสวนปรากฏว่ามีตั๋วขาดบัญชีสูญหายไป 10 ราย มูลค่า 24,135.50 บาท ดอกเบี้ย 5,732.30 บาท ตั๋วถูกชักไส้ 41 ใบ มูลค่า 102.50 บาท ดอกเบี้ย 24.32 บาท ยอดแตกต่างจากการกระทบยอดตั๋วคงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2537 จำนวน 4,852 บาท ดอกเบี้ย 1,152.35 บาท จำเลยจึงมีคำสั่งที่ 103/2539 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 ลงโทษพนักงาน 8 คน รวมทั้งโจทก์ ให้ตัดเงินเดือนคนละร้อยละ 10 มีกำหนด 3 เดือน และให้ชดใช้เงินทางแพ่งด้วย โดยให้โจทก์ชดใช้จำนวน 3,749.33 บาท โจทก์กับพวกรวม 4 คน อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งที่ 375/2541 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ให้ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 10 มีกำหนด 3 เดือน เช่นเดิม แต่ให้ชดใช้เงินทางแพ่งลดลงเหลือ 340.85 บาท และต่อมาจำเลยตัดเงินเดือนโจทก์ไป 3 เดือนรวม 4,032 บาท โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ลงโทษโจทก์ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาไม่อาจชี้ชัดว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและเป็นการกระทำผิดวินัย สำหรับงานค้างตามรายงานเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 นั้น เป็นงานค้างของหมวดตั๋วที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ย้ายไปประจำเขตการเดินรถที่ 2 ฝ่ายเดินรถที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย และพยานจำเลยมิได้ยินยันว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามวันเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยไม่มีสิทธิลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 103/2537 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 คำสั่งที่ 375/2541 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2541ในเฉพาะส่วนของโจทก์ ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 4,032 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างที่ถูกจำเลยลงโทษตัดร้อยละ 10 จำนวน 3 เดือนรวม 4,032 บาท เป็นการฟ้องเรียกเงินค่าจ้างเกินกว่า 2 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(8)(9) เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่จำเลยลงโทษตัดค่าจ้างโจทก์และให้คืนเงินค่าจ้างที่ตัดไปรวม 4,032 บาท แก่โจทก์ มิใช่ฟ้องเรียกค่าจ้างหรือสินจ้างอย่างอื่นเพื่อการงานที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(8)(9)ซึ่ง กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า คณะกรรมการสอบสวนของจำเลยได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าขณะที่โจทก์ทำงานอยู่ที่เขตการเดินรถที่ 8 คณะกรรมการสอบสวนได้ตรวจสอบตั๋วก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2537 จำนวน 5 ถึง 6 ลัง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ พบว่ามีตั๋วสูญหายไป 130 ใบ เป็นเงิน 325 บาท และมีตั๋วถูกชักไส้ไปขายอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิออกคำสั่งลงโทษโจทก์ได้ตามคำสั่งที่ 103/2539 เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 ซึ่งศาลแรงงานกลางยังมิได้พิจารณาถึงเหตุดังกล่าวนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยประกอบเอกสารต่าง ๆ ในสำนวน แล้ววินิจฉัยว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นการวินิจฉัยรวมไปถึงเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดที่จำเลยอ้างแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยได้อ้างคำเบิกความของพยานจำเลยประกอบกับพยานเอกสารเพื่อให้ฟังว่าโจทก์กระทำผิดและจำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถือเป็น อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share