แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้าพนักงานเดินหมายส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยครั้งแรกไม่ได้ผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยใหม่ แม้จะไม่ได้ยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง กลับสั่งให้คำแถลงของผู้ร้องว่า “ไม่พบ ให้ปิด” โดยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย และเมื่อพนักงานเดินหมายนำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่จำเลยครั้งที่สอง ก็ส่งให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะไม่พบป้ายชื่อจำเลย ผู้จัดการจำเลย และไม่มีผู้รับหมายไว้แทนแต่มีผู้แจ้งว่าจำเลยย้ายสำนักงานไปนานแล้ว พนักงานเดินหมายจึงไม่ได้ปิดหมายศาลชั้นต้นสั่งในรายงานการเดินหมายว่า “รอผู้ร้องแถลง” โดยมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ร้องทราบผู้ร้องไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น ฉะนั้นแม้ผู้ร้องจะมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปจนกระทั่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องต่อไป ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยถึงเกือบ 8 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รอผู้ร้องแถลง” ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 74722, 74724 และ 74725 แขวงทุ่งสองห้อง (สองห้อง) เขตบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ร้องไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของผู้ร้องและหมายนัดให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้คัดค้าน โจทก์ จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์ภายใน 5 วัน นับแต่วันรับหมาย หากส่งไม่ได้ให้ผู้ร้องแถลงภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำร้อง วันที่ 25 กันยายน 2539 พนักงานเดินหมายนำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่จำเลย แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะไม่พบป้ายชื่อจำเลย ผู้จัดการจำเลย และไม่มีผู้ยอมรับหมายไว้แทน ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานการเดินหมายว่า “รอผู้ร้องแถลง” ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นยืนยันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ขอให้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยใหม่ หากไม่พบจำเลยหรือไม่มีผู้ยอมรับหมายนัดและสำเนาคำร้องไว้แทน ขอให้มีคำสั่งปิดหมาย ศาลชั้นต้นสั่งคำแถลงของผู้ร้องว่า “ไม่พบ ให้ปิด” ต่อมาพนักงานเดินหมายรายงานว่าได้นำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่จำเลยใหม่ตามภูมิลำเนาเดิมของจำเลย แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะไม่พบป้ายชื่อจำเลย ผู้จัดการจำเลยและไม่มีผู้ยอมรับหมายไว้แทนแต่มีผู้แจ้งว่าจำเลยย้ายสำนักงานไปนานแล้ว พนักงานเดินหมายจึงไม่ได้ปิดหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 ว่า “รอผู้ร้องแถลง” แต่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้น จนกระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ว่า “ฯลฯ ศาลสั่งให้รอผู้ร้องแถลงตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2539 ปรากฏว่าเวลาได้ล่วงเลยมานานแล้ว ผู้ร้องก็ไม่นำพากระทำการใด ๆ อันถือว่ายังติดใจดำเนินการตามคำร้อง เพิ่งจะมายื่นคำร้องนี้เมื่อเวลาล่วงเลยไปเกือบ 8 เดือนเห็นว่า ผู้ร้องมีพฤติการณ์ทิ้งคำร้อง ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความและยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ”
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยใหม่ แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพนักงานเดินหมายส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยครั้งแรกไม่ได้ ผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยใหม่ แม้จะไม่ได้ยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้ถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง กลับสั่งในคำแถลงของผู้ร้องว่า”ไม่พบ ให้ปิด” โดยไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยและเมื่อพนักงานเดินหมายนำหมายนัดและสำเนาคำร้องไปส่งให้แก่จำเลยครั้งที่สองเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2539 ปรากฏตามรายงานการเดินหมายว่า ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะไม่พบป้ายชื่อจำเลย ผู้จัดการจำเลย และไม่มีผู้รับหมายไว้แทน แต่มีผู้แจ้งว่าจำเลยย้ายสำนักงานไปนานแล้ว พนักงานเดินหมายจึงไม่ได้ปิดหมายศาลชั้นต้นเพียงแต่สั่งในรายงานการเดินหมายว่า “รอผู้ร้องแถลง” ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ร้องทราบ ผู้ร้องจึงไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้น ฉะนั้นแม้ผู้ร้องจะมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จนกระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องต่อไป ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยถึงเกือบ 8 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รอผู้ร้องแถลง” ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันเป็นการทิ้งคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตามมาตรา 132(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน