คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7130/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าเช่าบ้านและเบี้ยเลี้ยงเนื่องจากโจทก์ไปปฏิบัติงานที่จังหวัดชลบุรีและไม่มีบ้านพักเป็นของตนเอง ต้องนำใบเสร็จมาแสดงและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหาร ค่าเดินทางกลับบ้าน และค่าซ่อมรถ ทั้งต้องจ่ายจริงมีลักษณะจ่ายเป็นสวัสดิการ ไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายให้เพื่อตอบแทนการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515
จำเลยมีระเบียบห้ามพนักงานขายประกัน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างจำเลยต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และในการประชุมระดับผู้บังคับบัญชา กรรมการใหญ่ประธานในที่ประชุมได้พูดห้ามพนักงานขายประกัน คำสั่งห้ามของกรรมการใหญ่ถือเป็นระเบียบข้อบังคับการทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อโจทก์กระทำผิดข้อบังคับและจำเลยเคยมีบันทึกภายในเตือนโจทก์มิให้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการหาประกันด้วยแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์อนุญาตให้ อ. ขายประกัน แต่นำค่านายหน้ามาเป็นสวัสดิการของพนักงานและไม่ปรากฏว่า อ. นำผู้ที่ประสงค์จะทำสัญญาประกันจากสำนักงานสาขาจำเลยไปผ่านตัวแทนหรือนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้ง จึงเป็นเพียงกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นความผิดวินัยที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3)
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกำหนดว่าสมาชิกจะไม่ได้รับเงินสมทบรวมทั้งประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวนหากสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพด้วยสาเหตุฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือนเมื่อโจทก์มิได้กระทำผิดระเบียบหรือคำสั่งกรณีร้ายแรงโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบรวมทั้งประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวน
จำเลยมีข้อตกลงจ่ายค่าทดแทนแก่ตัวแทนนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้งให้ขายประกันการที่โจทก์อนุญาตให้ อ. ขายประกันโดยผ่านตัวแทนนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้งการได้ค่าตอบแทนมาจึงเป็นไปตามข้อตกลงของจำเลยมิได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ผิดระเบียบข้อบังคับการทำงาน การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง จึงไม่มีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2529 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 174,210 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,166 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 4,877,880 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 3,871 บาท เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 80,276.88 บาท ค่าเสียหายที่ทำละเมิด 16,122 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละยอดนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน74,148 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 135,210 บาทเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่จำเลยจ่ายสมทบเข้ากองทุนพร้อมผลประโยชน์51,169 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไป และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี3,004.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์คืนเงินทดรอง18,000 บาท แก่จำเลย คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า เงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าบ้านจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและมีจำนวนแน่นอน ส่วนใบเสร็จจำเลยต้องการนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อประโยชน์ทางด้านภาษีอากรเท่านั้นจึงถือเป็นค่าจ้าง เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า เงินค่าเช่าบ้านและเบี้ยเลี้ยงจำเลยจ่ายให้โจทก์เนื่องจากโจทก์ไปปฏิบัติงานที่จังหวัดชลบุรี และไม่มีบ้านพักเป็นของตนเองต้องนำใบเสร็จมาแสดง ทั้งปรากฎข้อเท็จจริงในสำนวนว่าเบี้ยเลี้ยงจำเลยจ่ายให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหาร ค่าเดินทางกลับบ้าน และค่าซ่อมรถ ทั้งต้องจ่ายจริง ซึ่งมีลักษณะจ่ายเป็นสวัสดิการ ดังนั้นเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ข้อที่ 2 ว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับการทำงานห้ามพนักงานของจำเลยขายประกันหรือนำรายชื่อลูกค้าไปให้ตัวแทนซึ่งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวนจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความ จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังจากคำเบิกความของโจทก์ได้ความว่าจำเลยมีระเบียบห้ามพนักงานขายประกันและโจทก์เบิกความรับว่าโจทก์อนุญาตให้นางสาวเอื้อมพรขายประกัน ประกอบกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย จ.1 หมวด 8 ว่าด้วยวินัย ข้อ 31(5) กำหนดให้ลูกจ้างจำเลยต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ทั้งโจทก์ก็เบิกความรับว่าโจทก์เคยเข้าร่วมประชุมระดับผู้บังคับบัญชาประมาณ 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง กรรมการใหญ่ประธานในที่ประชุมจะพูดห้ามพนักงานขายประกัน คำสั่งห้ามของกรรมการใหญ่ดังกล่าวถือเป็นระเบียบข้อบังคับการทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยล้วนมีอยู่ในสำนวนทั้งสิ้น เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์กระทำผิดข้อบังคับของจำเลยและจำเลยเคยมีบันทึกภายในเอกสารหมาย จ.4 เตือนโจทก์มิให้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการหาประกันเช่นนี้ด้วยแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ข้อที่ 3 ว่า จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ยืมเงินทดรองจากจำเลยจำนวน 18,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในการขนย้ายทรัพย์สินนั้น เป็นเรื่องจำเลยกล่าวอ้างมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืม มิได้เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน ฟ้องแย้งจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เห็นว่า จำเลยฟ้องแย้งอ้างว่าขณะโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์ได้ยืมเงินทดรองจากจำเลยจำนวน 18,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในการขนย้ายทรัพย์สินซึ่งโจทก์จะต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยภายใน 1 เดือน ข้ออ้างของจำเลยยืนยันว่าโจทก์ยืมเงินทดรองจากจำเลยเนื่องจากการทำงานให้จำเลยและมีหน้าที่ต้องจ่ายคืนให้แก่จำเลย ฟ้องแย้งจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ยืมเงินทดรองไป 18,000 บาท โจทก์ให้การต่อสู้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินสวัสดิการที่จำเลยมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานประจำที่สาขาชลบุรี โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนในชั้นพิจารณาจำเลยนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย ล.17 ว่าโจทก์ยืมเงินทดรอง 20,000 บาท จำเลยหักเงินเดือนโจทก์เดือนละ 1,000 บาท 2 เดือนคงค้างชำระอยู่ 18,000 บาท เห็นได้ชัดว่าจำเลยนำสืบข้อเท็จจริงขัดกับฟ้องแย้งเป็นพิรุธฟังไม่ได้เอกสารหมาย ล.17 เจือสมข้อต่อสู้โจทก์ว่าเป็นเงินสวัสดิการ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ยืมเงินทดรองดังกล่าวจากจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนจำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์กระทำผิดจริงหรือไม่เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ทั้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงซึ่งมีผลทำให้พนักงานอื่นของจำเลยอาจเข้าใจได้ว่าจำเลยใช้อำนาจในการบริหารงานโดยอำเภอใจ ไม่มีการตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างจำเลยได้กระทำความผิด ความจริงจำเลยบริหารงานโดยยึดหลักกฎหมายและความเป็นธรรมตลอดมา เห็นว่า ศาลแรงงานกลางยกข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงเหตุหนึ่งมาประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานโดยจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดอาญาและจงใจทำให้จำเลยเสียหายหรือไม่อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ข้อที่ 2 ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์อนุญาตให้นางสาวเอื้อมพรขายประกัน โดยพฤติการณ์ถือได้ว่าผู้กระทำได้ปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่จำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง เมื่อการกระทำของนางสาวเอื้อมพรเป็นความผิดทางอาญา แสดงว่าโจทก์สมรู้ร่วมคิดหรือสนับสนุนให้นางสาวเอื้อมพรกระทำเช่นนั้น ถือได้ว่าโจทก์จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดอาญาด้วย ทั้งเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหายจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าพยานจำเลยที่นำสืบมาไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการอย่างที่จำเลยอ้าง ส่วนที่โจทก์เบิกความรับว่าโจทก์อนุญาตให้นางสาวเอื้อมพรขายประกันแต่ก็นำค่านายหน้ามาเป็นสวัสดิการของพนักงาน ทั้งไม่ปรากฏว่านางสาวเอื้อมพร นำผู้ที่ประสงค์จะทำสัญญาประกันจากสำนักงานสาขาจำเลยไปผ่านตัวแทนหรือนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้ง จึงเป็นเพียงกระทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นความผิดวินัยที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3) อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ข้อที่ 3 ว่า เมื่อโจทก์สิ้นสภาพการเป็นพนักงานด้วยเหตุกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบรวมถึงผลประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวนตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานเห็นว่า ข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานเอกสารหมาย จ.6ข้อ 6.02 กำหนดว่าสมาชิกจะไม่ได้รับเงินสมทบรวมทั้งผลประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวนหากสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพด้วยสาเหตุ (ค) ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มิได้กระทำผิดระเบียบหรือคำสั่งกรณีร้ายแรง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสมทบรวมทั้งผลประโยชน์ของเงินสมทบทั้งจำนวน ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์อนุญาตให้นางสาวเอื้อมพร ขายประกันแม้นำค่านายหน้ามาเป็นสวัสดิการก็เป็นการทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงต้องรับผิดคืนเงินแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยมีข้อตกลงจ่ายค่าตอบแทนแก่ตัวแทนนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้งให้ขายประกัน การที่โจทก์อนุญาตให้นางสาวเอื้อมพรขายประกันโดยผ่านตัวแทนนายหน้าที่จำเลยแต่งตั้ง ดังนั้นการได้ค่าตอบแทนมาจึงเป็นไปตามข้อตกลงของจำเลยมิได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานตามที่วินิจฉัยมาแล้วเท่านั้น การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง โจทก์ไม่มีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share