คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุเกิดในเวลากลางคืน คนร้ายอยู่รวมกลุ่มจำนวนมากถึง 5 คน ซึ่งพยานทั้งสองไม่เคยเห็นหน้าคนร้ายมาก่อน แม้จะมีแสงสว่างจากไฟฟ้าชนิดโคมกลมที่มีแสงสีขาวคล้ายแสงจากหลอดไฟฟ้าชนิดฟลูออเรสเซนต์ก็ตาม แต่โคมไฟดังกล่าวอยู่เยื้องไปด้านหลังและด้านข้างของกลุ่มคนร้าย ทั้งเหตุการณ์ขณะที่กลุ่มคนร้ายอยู่บริเวณขอบสระน้ำก็อยู่ในสภาวะของการใช้ขวดสุรากับไม้ขว้างปาซึ่งพยานทั้งสองต้องคอยหลบหลีกอาวุธดังกล่าวและขณะที่กลุ่มคนร้ายตามลงไปทำร้ายผู้เสียหายในสระน้ำแล้วจับหน้าผู้เสียหายกดน้ำจนผู้เสียหายดิ้นนั้น ก็เป็นเวลาที่สั้นและอยู่ในสภาวะชุลมุนและน่าตกใจกลัว ย่อมทำให้โอกาสและความสามารถของพยานทั้งสองที่จะสังเกตและจดจำหน้าคนร้ายทั้ง 5 คน ได้อย่างแม่นยำน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก ประกอบกับพยานทั้งสองไม่ได้แจ้งลักษณะรูปพรรณของคนร้ายให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบหลังเกิดเหตุแต่อย่างใดและผู้เสียหายชี้ตัว ป. ที่ถูกจับในคืนเกิดเหตุก็โดยอาศัยเสื้อผ้า ป. ที่เปียกน้ำ นอกจากนี้การที่ร้อยตำรวจเอก ส. เบิกความว่าผู้เสียหายดูรูปถ่ายจำเลยกับ จ. แล้วยืนยันว่าเป็นคนร้าย แต่ผู้เสียหายไม่ได้เบิกความถึงเลยว่าได้ดูรูปถ่ายจำเลย พยานโจทก์จึงไม่สอดคล้องต้องกัน ส่วนการที่พยานทั้งสองชี้ตัวและชี้รูปถ่ายจำเลยได้ถูกต้องภายหลังจำเลยถูกจับเป็นเวลานานถึง 9 เดือน หลังเกิดเหตุก็น่าระแวงสงสัยเช่นกันว่าพยานทั้งสองจะจำหน้าจำเลยได้แม่นยำจริงหรือไม่ ดังนั้น การจับและกล่าวหาจำเลยจึงสืบเนื่องมาจากคำซัดทอดของ ป. ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่าจำเลยมิได้เป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ โจทก์คงมีเพียงพยานบอกเล่าคือสำเนาบันทึกการจับกุม บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่จำเลยให้การรับสารภาพว่าร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย แต่พยานดังกล่าวได้มาโดยไม่ชอบ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจนำกระดาษเปล่ามาให้จำเลยเซ็น พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 และให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำหรือใช้ราคา 8,800 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 หรือไม่ โจทก์มีประจักษ์พยาน 2 ปาก คือนายสมศักดิ์ เกิดศิริ ผู้เสียหายและนางสาววารี นวลละออง มาเบิกความเป็นพยานว่าในคืนเกิดเหตุเห็นและจำหน้าจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเห็นว่า เหตุเกิดในเวลากลางคืน คนร้ายอยู่รวมกลุ่มจำนวนมากถึง 5 คน และพยานทั้งสองไม่เคยเห็นหน้าคนร้ายมาก่อน แม้จะมีแสงสว่างจากไฟฟ้าชนิดโคมกลมที่มีแสงสีขาวคล้ายแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าชนิดฟลูออเรสเซนต์ก็ตาม แต่โคมไฟดังกล่าวอยู่เยื้องไปด้านหลังและด้านข้างของกลุ่มคนร้าย ประกอบกับเหตุการณ์ขณะที่กลุ่มคนร้ายอยู่บริเวณขอบสระน้ำก็อยู่ในสภาวะของการใช้ขวดสุรากับไม้ขว้างปาพยานทั้งสองซึ่งพยานทั้งสองคนต้องคอยหลบหลีกอาวุธดังกล่าวและขณะที่กลุ่มคนร้ายตามลงไปทำร้ายผู้เสียหายในสระน้ำแล้วจับหน้าผู้เสียหายกดน้ำจนผู้เสียหายดิ้นแล้วหลบหนีส่วนนางสาววารีหลบหนีไปก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นและอยู่ในสภาวะชุลมุนและน่าตกใจกลัว จากพฤติการณ์ดังกล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าโอกาสและความสามารถของพยานทั้งสองที่จะสังเกตและจดจำหน้าคนร้ายทั้ง 5 คน ได้อย่างแม่นยำน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งข้อระแวงดังว่ามานี้จะเห็นได้จากการที่ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองได้แจ้งลักษณะรูปพรรณของคนร้ายให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบหลังเกิดเหตุแต่อย่างใด และผู้เสียหายชี้ตัวนายประดิษฐ์ที่ถูกจับในคืนเกิดเหตุก็โดยอาศัยเสื้อผ้านายประดิษฐ์เปียกน้ำ นอกจากนี้ ร้อยตำรวจเอกสามารถ จูเทศพยานโจทก์เบิกความว่า ผู้เสียหายดูรูปถ่ายจำเลยกับนายจักรพงษ์แล้วยืนยันว่าเป็นคนร้าย จึงขออนุมัติออกหมายจับ แต่ผู้เสียหายไม่ได้เบิกความถึงเลยว่าได้ดูรูปถ่ายจำเลย พยานโจทก์ จึงไม่สอดคล้องต้องกัน ส่วนการที่พยานทั้งสองชี้ตัวและชี้รูปถ่ายจำเลยได้ถูกต้องภายหลังจำเลยถูกจับซึ่งเป็นเวลานานถึง 9 เดือน หลังเกิดเหตุก็น่าระแวงสงสัยเช่นกันว่าพยานทั้งสองจะจำหน้าจำเลยได้แม่นยำจริงหรือไม่ ดังนั้นการจับและกล่าวหาจำเลยจึงสืบเนื่องมาจากคำซัดทอดของนายประดิษฐ์ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งปรากฏว่าไม่เป็นความจริงเพราะข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่าจำเลยมิได้เป็นคนร้ายปล้นทรัพย์ โจทก์คงมีเพียงพยานบอกเล่าคือสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน เอกสารหมาย ป.จ.1 ที่จำเลยให้การรับสารภาพว่าร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย แต่จำเลยก็ยังนำสืบโต้เถียงว่าพยานดังกล่าวนี้ได้มาโดยไม่ชอบ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจนำกระดาษเปล่ามาให้จำเลยเซ็น ซึ่งสรุปแล้วพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จริงหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share