แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงจะฟ้องคดีได้
ส่วนการวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจะต้องให้สอดคล้องกับความไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวด้วย โดยนายจ้างไม่พอใจหรือโต้แย้งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเท่าใดก็วางเงินเท่าที่ตนโต้แย้ง ไม่จำต้องวางเต็มจำนวนตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเสมอไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจหรือโต้แย้งคำสั่งจำเลยแต่เพียงค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 369,000 บาท โจทก์จึงวางเงินเฉพาะจำนวนดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์และบริษัททริปเปิลอาร์(ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลางตามคดีของศาลแรงงานกลางหมายเลขดำที่ 22879/2541 ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 61/2541 และ 62/2541 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 ของจำเลยทั้งสองโดยโจทก์ได้วางเงินที่จะต้องชำระตามคำสั่งจำเลยทั้งสองจำนวน489,000 บาทไว้ในคดีดังกล่าวด้วย และยื่นคำร้องขอขยายเวลาวางเงินตามคำสั่งจำเลยทั้งสองในส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน ออกไปถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2541 ศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์ทั้งสองแยกฟ้องยื่นมาใหม่ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ติดใจฟ้อง และอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงิน ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยทั้งสองที่ 61/2541 พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอโอนเงินที่โจทก์วางไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 22879/2541 มาใช้ในคดีนี้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้วางเงินเพิ่มอีกจำนวน 61,500 บาท
ศาลแรงงานกลางสั่งคำฟ้องโจทก์ว่า โจทก์นำเงินวางศาลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2541 ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 22879/2541 เพียงบางส่วน และไม่นำเงินส่วนที่เหลือมาวางศาลให้ครบตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ภายในกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 22879/2541 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่นายอภิชาติ กอบประเสริฐกุล แล้วจำนวน 61,500 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 1,811 บาท จำนวนเงินที่โจทก์วางต่อศาลแรงงานกลางในการยื่นฟ้องคดีนี้จึงครบจำนวนที่โจทก์จะต้องชำระแก่นายอภิชาติตามคำสั่งจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่านายอภิชาติไปประกอบธุรกิจซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับธุรกิจของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่30 มิถุนายน 2541 นายอภิชาติได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์แล้ว โจทก์จึงสิ้นความผูกพันตามข้อตกลงการจ้าง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่โจทก์รับว่าได้ชำระเงินให้แก่นายอภิชาติแล้วจำนวน 61,500 บาท โดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 1,811 บาท โจทก์จึงขอวางเงินในการฟ้องคดีนี้จำนวน 369,000 บาท โดยขอโอนเงินที่โจทก์วางไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 22879/2541 ของศาลแรงงานกลางมาวางในคดีนี้ตามคำร้องโจทก์ฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมปฏิบัติตามคำสั่งจำเลยทั้งสองบางส่วน โดยยอมจ่ายเงินให้นายอภิชาติแล้ว 1 เดือน คงโต้แย้งคำสั่งจำเลยทั้งสองแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายอภิชาติเฉพาะส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้จ่ายอีก 369,000 บาท เท่านั้น ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ ส่วนการวางเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจะต้องให้สอดคล้องกับความไม่พอใจคำสั่งดังกล่าวด้วยโดยนายจ้างไม่พอใจหรือโต้แย้งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเท่าใดก็วางเงินเท่าที่ตนโต้แย้ง ไม่จำต้องวางเต็มจำนวนตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเสมอไป เมื่อโจทก์ไม่พอใจหรือโต้แย้งคำสั่งจำเลยทั้งสองแต่เพียงค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 369,000 บาท โจทก์จึงวางเงินเฉพาะจำนวนดังกล่าวได้ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาสั่งคำฟ้องโจทก์ใหม่ตามรูปคดี