แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยมีข้อความว่าโจทก์ยอมชำระเงินให้แก่จำเลยและจำเลยยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาต่างก็มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ต่อกัน ดังนั้น การที่โจทก์จะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์นั้น โจทก์ก็ต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยด้วย เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4417 ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน มีข้อความว่า
ข้อ 1. โจทก์ยอมชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 2,600,000 บาท ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2537
ข้อ 2. จำเลยยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4417 ตำบลบ้านปทุมอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่โจทก์ในวันที่โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ เป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และค่าภาษีในการจดทะเบียนโจทก์เป็นผู้ชำระ
ข้อ 3. หากโจทก์ไม่ชำระเงินแก่จำเลยภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 ยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4417 ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย
ข้อ 4. โจทก์และจำเลยยอมตามข้อ 1 ถึง 3 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2537 โจทก์ยื่นคำร้องว่าในวันที่ 15 มีนาคม 2537โจทก์และจำเลยได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี โดยโจทก์ได้นำแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาปทุมธานี จำนวนเงิน 2,600,000 บาทไปด้วย ส่วนจำเลยไม่ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 4417 ตำบลบ้านปทุม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ติดตัวมาและในวันนั้นทั้งสองฝ่ายไม่ได้นำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่จ่าศาลรับรองความถูกต้องไปด้วย โจทก์จำเลยจึงได้ทำบันทึกให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีรับทราบและตกลงกันว่าในวันที่ 16 มีนาคม 2537 เวลา 13.30 นาฬิกา ทั้งสองฝ่ายจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันใหม่เพราะในช่วงเช้าจะต้องไปขอคัดเอกสารที่ศาลก่อน ครั้นถึงวันเวลานัดโจทก์ได้ไปที่สำนักงานที่ดินแต่ปรากฏว่าจำเลยไม่ไป โจทก์จึงได้ทำหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้การกระทำของจำเลยเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยให้จำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4417 ดังกล่าวให้โจทก์ โดยโจทก์พร้อมจะชำระเงินจำนวน 2,600,000 บาท ให้แก่จำเลย
จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีเงินที่จะชำระให้แก่จำเลยแคชเชียร์เช็คที่โจทก์กล่าวอ้างมิใช่เป็นของโจทก์แต่เป็นของบุคคลภายนอกไม่สามารถนำมาชำระหนี้แก่จำเลยและโจทก์ไม่มีเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่จะชำระแก่สำนักงานที่ดินอีกทั้งมิได้นำเอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการจดทะเบียนไปด้วยจึงไม่อาจจดทะเบียนโอนได้โจทก์จึงเป็นฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ดินพิพาทก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยผลของคำพิพากษา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์และจำเลยได้ไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีเพื่อปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ไม่ปรากฏปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้เนื่องจากไม่ได้นำเอกสารคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความไป โจทก์จำเลยสมัครใจที่จะเลื่อนการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไปโดยนัดหมายกันในวันรุ่งขึ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ และตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จำเลยต่างก็มีหน้าที่จะต้องชำระอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนโจทก์สามารถนำเงินจำนวน 2,600,000 บาท มาวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย และนำคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าคดีนี้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อสำคัญว่า โจทก์ยอมชำระเงินแก่จำเลยจำนวน 2,600,000 บาท ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2537 และจำเลยยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โจทก์จำเลยไปสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีเพื่อทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์นำแคชเชียร์เช็คเงินจำนวน 2,600,000 บาท มาชำระให้แก่จำเลยด้วย แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ได้เพราะเอกสารยังไม่ครบ ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 16 เดือนเดียวกันนั้นโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินอีก แต่จำเลยไม่ไป ต่อมาโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้หรือไม่เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยมีข้อความว่า โจทก์ยอมชำระเงินให้แก่จำเลยและจำเลยยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กรณีนี้หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีให้แก่โจทก์ โจทก์ก็สามารถถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้ แม้โฉนดที่ดินพิพาทจะอยู่ที่จำเลยและโจทก์ไม่ได้โฉนดที่ดินพิพาทมาจากจำเลย โจทก์ก็มีทางทำได้โดยยื่นคำขอใบแทนต่อเจ้าพนักงานที่ดินและขอให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 ข้อ 17(3) ดังนั้น โจทก์ยังมีวิธีการที่จะดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยไม่จำเป็นต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนด้วยตนเอง ถึงอย่างไรก็ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ต่างก็มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์จะดำเนินการขอให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นของโจทก์ โจทก์ก็ต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่จำเลยด้วยที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน