คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ใบตราส่งเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งแห่งสัญญารับขนเท่านั้น โจทก์ย่อมนำสืบพยานหลักฐานอื่นแสดงถึงการทำสัญญารับขนได้ โจทก์ได้นำสืบถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ติดต่อทำธุรกิจส่งสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือให้แก่ผู้ซื้อสินค้าทั้งสองรายมาเป็นเวลานาน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอค่าจ้างขนส่งและแจ้งชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งในต่างประเทศ จำเลยที่ 1เป็นผู้เก็บค่าจ้างขนส่งเมื่อทำการขนส่งเสร็จสิ้น และการที่จำเลยที่ 2 ระบุชื่อจำเลยที่1เป็นผู้รับสินค้าที่ปลายทางการขนส่งทางอากาศเพื่อที่จะเป็นผู้มีสิทธิไปขอรับสินค้าออกจากโกดังส่งมอบให้แก่ลูกค้าซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอตัวและดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้บริษัทผู้ซื้อทั้งสอง บริษัททั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าและเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้ทำสัญญารับขนสินค้ากับจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ขนส่งสินค้าจากสนามบินต่างประเทศมายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัททั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าเมื่อสินค้าสูญหายระหว่างการรับขนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าต่อบริษัททั้งสองตามสัญญารับขน และเมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าทั้งสองผู้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวแล้ว ย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินจำนวน 369,244.50 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 366,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 369,244.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 366,800 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 2 ตุลาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมขนส่งอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ โจทก์มีนางสาวพรรณภัทร ณ นคร เบิกความเป็นพยานว่า พยานทำงานอยู่ที่บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเครือเดียวกับบริษัทอินดัสเทรียล พลานท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมีสำนักงานอยู่ที่เดียวกันบริษัททั้งสองได้สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากบริษัทนูวาฟิม่า เอส.พี.เอ. จำกัด ประเทศอิตาลีระบบ เอฟโอบีสนามบินในประเทศอิตาลี ในการนี้ทางบริษัทผู้ซื้อทั้งสองได้ติดต่อจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ทำการขนส่งสินค้าในช่วงต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ดำเนินการส่งผ่านไปยังบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับสินค้าจากบริษัทนูวาฟิม่า เอส.พี.เอ จำกัด ผู้ขายแล้ว ได้ออกใบตราส่งทางอากาศให้แก่บริษัทนูวาฟิม่า เอส.พี.เอ จำกัด โดยระบุชื่อบริษัทอินดัสเทรียล พลานท์ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด และบริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ซื้อ เป็นผู้รับตราส่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จำเลยที่ 2 ได้นำสินค้าส่งทางสายการบินของจำเลยที่ 3เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสินค้าดังกล่าวแล้วได้ออกใบตราส่งทางอากาศให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.9 โดยระบุในเอกสารดังกล่าวว่าผู้ส่งสินค้า คือ จำเลยที่ 2และผู้รับสินค้า คือ จำเลยที่ 1 เหตุที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้า เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำส่งสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่จำกัด และบริษัทอินดัสเทรียล พลานท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ซื้อ และจำเลยที่ 1ทำหน้าที่รับจ้างออกสินค้าให้แก่ผู้ซื้อด้วย ผู้ซื้อติดต่อทำธุรกิจว่าจ้างจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าทางอากาศทางเรือ และออกสินค้ามาเป็นเวลานานกว่า 3 ปี วิธีการขนส่งสินค้าจำเลยที่ 1 จะทำใบเสนอราคารับจ้างขนส่งซึ่งคิดตามน้ำหนักของสินค้าโดยระบุวิธีการส่งของว่าให้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 ในประเทศอิตาลี ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.27ในกรณีที่สามารถทำการส่งสินค้าได้เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยที่ 1 จะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าขนส่งตามอัตราที่ได้เสนอราคาไว้ ตามตัวอย่างใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.28 และผู้ซื้อก็ชำระราคาค่าขนส่งให้จำเลยที่ 1 ตามตัวอย่างเอกสารหมาย จ.29 ส่วนจำเลยที่ 1 มีนางสาววรรณา รัตนศักดิ์สิริ พนักงานของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ตามปกติในการนำสินค้าออกจะต้องแจ้งว่าสินค้ามาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพแล้วให้ลูกค้าทราบ ทางลูกค้าจะตกลงว่าลูกค้าจะเป็นผู้ไปรับสินค้าด้วยตนเองหรือจะให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปรับสินค้าแทน กับเบิกความตอบคำถามค้านประกอบเอกสารหมาย จ.9 ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นใบตราส่งซึ่งระบุว่า บริษัทจำเลยที่ 1เป็นผู้รับตราส่ง การที่จำเลยที่ 1 มีชื่ออยู่ในใบตราส่งหมายความว่าสามารถเป็นผู้ถือเอกสารไปรับสินค้าออกมาจากโกดังเพื่อส่งให้ลูกค้าได้ กรณีจึงเจือสมในทางนำสืบของโจทก์ว่า การขนส่งสินค้ารายนี้ในช่วงจากสนามบินในประเทศอิตาลี ผู้ซื้อได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดส่งสินค้าให้ซึ่งจำเลยที่ 2 จะมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็ได้ออกใบส่งทางอากาศ(Air Waybill) ให้จำเลยที่ 2 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้า เพื่อที่จำเลยที่ 1จะได้นำไปขอรับสินค้าส่งให้แก่ลูกค้าต่อไป ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่งก็ตาม แต่ใบตราส่งถือเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่งแห่งสัญญารับขนเท่านั้นโจทก์ย่อมนำสืบพยานหลักฐานอื่นแสดงถึงการทำสัญญารับขนได้ด้วย เมื่อโจทก์ได้นำสืบถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ติดต่อทำธุรกิจส่งสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือให้แก่ผู้ซื้อสินค้าทั้งสองรายนี้มาเป็นเวลานาน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอค่าจ้างขนส่งและแจ้งชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งในประเทศอิตาลีก็ดี จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าจ้างขนส่งเมื่อทำการขนส่งเสร็จสิ้นแล้วก็ดี การที่จำเลยที่ 2 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสินค้าที่ปลายทางการขนส่งทางอากาศเพื่อที่จะเป็นผู้มีสิทธิไปขอรับสินค้าออกจากโกดังส่งมอบให้แก่ลูกค้าก็ดีซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอตัวและดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าตามฟ้องให้บริษัทผู้ซื้อทั้งสอง กรณีจึงฟังได้ว่า บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด และบริษัทอินดัสเทรียล พลานท์ ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ผู้ซื้อสินค้าตามฟ้องและเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้ทำสัญญารับขนสินค้าดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าพิพาทจากสนามบินประเทศอิตาลีมายังประเทศไทยเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัททั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าสูญหายระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าต่อบริษัททั้งสองดังกล่าวตามสัญญารับขนนั้น และเมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าทั้งสองผู้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า เมื่อสินค้ายังส่งมาไม่ถึงสถานที่ปลายทางที่กำหนดให้ส่งสิทธิตามสัญญาขนส่งจึงยังไม่โอนไปยังผู้รับตราส่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ดังนั้น บริษัทไทย-เยอรมัน เซรามิคอินดัสทรี่ จำกัด และบริษัทอินดัสเทรียล พลานท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามฟ้อง แม้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่บริษัททั้งสองก็ไม่ได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จรจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทกับบริษัททั้งสองดังกล่าวมาข้างต้นแล้วจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดในความสูญหายของสินค้าต่อบริษัททั้งสองโดยตรงตามสัญญารับขนอยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 627 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างฎีกามาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share