คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5011/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 58 ประกอบมาตรา 73 ทวิ และกฎกระทรวงฉบับที่ 27(พ.ศ. 2530) ข้อ 5 วรรคหนึ่ง และข้อกำหนดฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2526)ข้อ 5 ประกอบกันความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดที่ไม่จัดทำบัญชีรับและจำหน่ายไม้แปรรูป บัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามให้ถูกต้องตามความเป็นจริงอันเป็นความผิดตามมาตรา 58 ประกอบด้วยมาตรา 73 ทวิ นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือผู้รับอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามดังจะเห็นได้จากข้อกำหนดฉบับที่ 18(พ.ศ. 2532) ข้อ 8 และข้อ 11 จำเลยเป็นเพียงตัวแทนดูแลกิจการโรงงานแปรรูปไม้ที่เกิดขึ้นของผู้รับอนุญาต จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือผู้รับอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามแม้จำเลยเป็นตัวแทนของผู้รับอนุญาตแต่หนังสือตั้งตัวแทนก็มิได้ระบุให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีตามที่กล่าวมาข้างต้นอันเป็นหน้าที่ของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด จำเลยไม่จัดทำบัญชีดังกล่าวจึงไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดอันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 58 ประกอบมาตรา 73 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 51, 53 ตรี, 58, 72 ทวิ, 73, 73 ทวิ, 74, 74 จัตวา, 75ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบไม้ของกลาง และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 58 (ที่ถูกมาตรา 58 วรรคหนึ่ง), 73 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 73 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักแปรรูปและไม้ประดู่แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันมีไม้สักแปรรูปซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อกำหนดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติเพิ่มเติม จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือนริบไม้สักแปรรูปของกลางปริมาตร 7.29 ลูกบาศก์เมตร และไม้ประดู่แปรรูปของกลางปริมาตร 0.21 ลูกบาศก์เมตร คืนไม้สักแปรรูปและไม้ประดู่แปรรูปของกลางส่วนที่เหลือแก่เจ้าของ ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปใจความสำคัญได้ว่าแม้จำเลยมิใช่ผู้รับอนุญาต แต่จำเลยเป็นตัวแทนดูแลกิจการโรงงานแปรรูปไม้ที่เกิดเหตุ จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีรับและจำหน่ายไม้แปรรูป บัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2519) ข้อกำหนดฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2532) กฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2530) และข้อกำหนดฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2526) แทนผู้รับอนุญาต เมื่อจำเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในข้อกำหนดดังกล่าว จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 58, 73 ทวิ นั้น เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติป่าไม พ.ศ. 2484 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การขออนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรณีเฉพาะเรื่อง ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควร จะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมประการใดอีกก็ได้” และมาตรา 73 ทวิ บัญญัติว่า “ฯลฯ ผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือข้อกำหนดให้ปฏิบัติเพิ่มเติมตามมาตรา 58 ต้องระวางโทษ ฯลฯ” กฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2519)ข้อ 7 ระบุว่า “ผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ฯลฯ ต้องทำบัญชีไม้แปรรูปแสดงการได้มาและการจำหน่ายไม้ไปตามแบบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด และผู้รับอนุญาตต้องลงรายการให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงอยู่เสมอ” ข้อกำหนดฉบับที่ 18(พ.ศ. 2532) ข้อ 8 ระบุว่า “ผู้รับอนุญาตต้องจัดทำบัญชีไม้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของแต่ละวัน หากฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้สั่งพักใช้ใบอนุญาต” และข้อ 11 ระบุว่า “ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อ… ข้อ 8 ไม่ว่าผู้รับอนุญาตจะอยู่ในโรงงานหรือไม่ก็ตามผู้รับอนุญาตจะอ้างว่าเป็นการกระทำของคนงานหรือบุคคลอื่นไม่ได้ และไม่เป็นเหตุบรรเทาความผิดแต่อย่างใด”กฎกระทรวงฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2530) ข้อ 5 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำบัญชีรับและจำหน่าย ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามที่ได้นำเข้าและจำหน่ายออก ตามแบบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด” และข้อกำหนดฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2526) ข้อ 5 ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำบัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของแต่ละวัน ฯลฯ” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา 58 ประกอบด้วยมาตรา 73 ทวิ และกฎกระทรวงตลอดจนข้อกำหนดดังกล่าวประกอบกันแล้วเป็นที่เห็นได้ว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดที่ไม่จัดทำบัญชีรับและจำหน่ายไม้แปรรูป บัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามให้ถูกต้องตามความจริงอันเป็นความผิดตามมาตรา 58 ประกอบด้วยมาตรา 73 ทวิ นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือผู้รับใบอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม ดังจะเห็นได้จากข้อกำหนดฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2532)ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ผู้รับอนุญาตต้องจัดทำบัญชีไม้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของแต่ละวัน หากฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้อง ให้สั่งพักใช้ใบอนุญาตและข้อ 11 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้อ ข้อ 8ไม่ว่าผู้รับอนุญาตจะอยู่ในโรงงานหรือไม่ก็ตาม ผู้รับอนุญาตจะอ้างว่าเป็นการกระทำของคนงานหรือบุคคลอื่นไม่ได้ และไม่เป็นเหตุบรรเทาความผิดแต่อย่างใด” ดังกล่าวข้างต้นด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนดูแลกิจการโรงงานแปรรูปไม้ที่เกิดขึ้นของนายณรงค์ผู้รับอนุญาตจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้หรือผู้รับใบอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามประการหนึ่งกับเมื่อนายณรงค์ผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นตัวการได้มอบอำนาจให้จำเลยตัวแทนมีอำนาจเฉพาะสั่งให้คนงานหรือผู้รับจ้างหยุดทำการแปรรูปไม้ หยุดขนหรือเคลื่อนย้ายไม้เมื่อได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ อำนวยความสะดวกตอบข้อซักถาม และรับทราบคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจสอบกิจการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ลงนามในหนังสือกำกับไม้แปรรูปและลงนามในคำขอใบเบิกทางเพื่อขอนำไม้เคลื่อนที่และลงนามในหนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์และลงนามในคำขอประทับรอยตราประจำต่อหนังสือกำกับสิ่งประดิษฐ์ ติดต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับโรงงานแปรรูปไม้ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.6 เท่านั้น อันมีลักษณะเป็นกรณีที่จำเลยตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการอีกประการหนึ่ง ดังนี้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีรับและจำหน่ายไม้แปรรูปบัญชีรับและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนด แม้จำเลยไม่ได้จัดทำบัญชีดังกล่าวจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามมาตรา 58 ประกอบด้วยมาตรา 73 ทวิ ตามที่โจทก์ฟ้องและฎีกา ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า ในการตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามสภาพและความเป็นจริงแล้วผู้รับอนุญาตอาจขอตั้งโรงงานแปรรูปไม้หลาย ๆ โรงและแต่ละโรงอยู่ต่างสถานที่กัน กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ผู้รับอนุญาตตั้งตัวแทนได้ตามข้อกำหนดฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2532) ข้อ 14 เพื่อให้ตัวแทนดำเนินการต่าง ๆ แทนผู้รับอนุญาตคดีนี้เมื่อจำเลยเป็นตัวแทนของผู้รับอนุญาตตามหนังสือตั้งตัวแทน จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายแทนผู้รับอนุญาตที่ต้องจัดทำบัญชีดังกล่าวด้วยนั้น เห็นว่าตามข้อกำหนดฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2532) ข้อ 14 ที่โจทก์อ้างมีข้อความในวรรคหนึ่ง ระบุว่า” ผู้รับอนุญาตต้องอยู่ดูแลกิจการแปรรูปไม้ด้วยตนเอง หากไม่อาจอยู่ดูแลกิจการด้วยตนเองได้ ต้องจัดให้มีตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบคำถามแก่พนักงานเจ้าหน้าที่” และวรรคสามระบุว่า” หากฝ่าฝืนให้สั่งพักใช้ใบอนุญาต” ซึ่งตามข้อกำหนดดังกล่าวก็มีความหมายเพียงว่าในกรณีที่ผู้รับอนุญาตไม่อาจอยู่ดูแลกิจการแปรรูปไม้ด้วยตนเองได้ ต้องจัดให้มีตัวแทนเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบคำถามแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หากผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนไม่จัดให้มีตัวแทนเพื่อการดังกล่าวไว้ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งพักใช้ใบอนุญาตของผู้รับอนุญาตได้เท่านั้น โดยเฉพาะคดีนี้แม้จำเลยเป็นตัวแทนของผู้รับอนุญาตตามหนังสือตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.6 แต่ตามหนังสือตั้งตัวแทนดังกล่าวก็มิได้ระบุให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีตามที่กล่าวมาข้างต้นอันเป็นหน้าที่ของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในข้อกำหนดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 58 ประกอบด้วยมาตรา 73 ทวิ และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share