คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4473/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) และ 1087 ระบุว่าผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน และผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีได้เฉพาะหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระเป็นหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน อีกทั้งเมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคดีแพ่งมาฟ้องให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากทั้งลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 2,263,660 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ที่ 1 ให้รับผิดในค่าปรับและค่าเสียหายฐานผิดสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารโรงเรียน รวม 2 คดี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 427/2525และ 428/2525 ของศาลจังหวัดพิจิตร โดยมิได้ฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในคดีทั้งสองดังกล่าวด้วย เจ้าหนี้จึงไม่อาจอ้างสิทธิในมูลหนี้ตามคำพิพากษาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้ แม้ว่าลูกหนี้ที่ 2 จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดลูกหนี้ที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนก็ตาม หรือหากพิจารณาถึงมูลหนี้เดิมอันเป็นเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ปรากฏว่าฝ่ายลูกหนี้ผิดสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารโรงเรียนทั้งสองคดีในปี 2522 เมื่อเจ้าหนี้มิได้ฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ให้รับผิดในคดีแพ่งพร้อมลูกหนี้ที่ 1 อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 1 เท่านั้น แต่ในส่วนของลูกหนี้ที่ 2 หาได้สะดุดหยุดลงด้วยไม่ และเมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลายร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ในวันที่ 29 ตุลาคม 2535 จึงถือว่าหนี้ที่เกี่ยวกับลูกหนี้ที่ 2ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ขาดอายุความ นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังมิได้นำมูลหนี้เดิมมาขอชำระหนี้ในคดีล้มละลายภายในกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ตามมาตรา 91 ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 2,263,660 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ให้ยกเสียหมด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีลูกหนี้ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 ศาลจังหวัดพิจิตรพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายให้แก่เจ้าหนี้ฐานผิดสัญญาจ้างรวม 2 คดี คือ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 427/2525 พิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายเป็นเงิน 606,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 428/2525 พิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระค่าปรับและค่าเสียหายเป็นเงิน 559,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ5,000 บาท คดีถึงที่สุด ลูกหนี้ที่ 1 ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลาย เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองเป็นเงิน 2,263,660 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเจ้าหนี้จะนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2ได้หรือไม่ เจ้าหนี้ฎีกาว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งลูกหนี้ที่ 2ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของลูกหนี้ที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ 1โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2)ประกอบด้วยมาตรา 1087 เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดได้ เมื่อลูกหนี้ที่ 1มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับผิดกับลูกหนี้ที่ 1ตามบทกฎหมายดักล่าว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 บัญญัติว่า “อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวกดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง” และมาตรา 1087 บัญญัติว่า”อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว มีความหมายว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน และผู้จะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีได้เฉพาะหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของลูกหนี้ที่ 1โดยไม่จำกัดจำนวน อีกทั้งเมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคดีแพ่งทั้งสองคดีมาฟ้องให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากทั้งลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่น ๆ ของเจ้าหนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 2,263,660 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share