แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
วันที่ 8-10 พฤษภาคม 2529 โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติเนื่องจากวันที่ 8 บุตรโจทก์ป่วยมาก โจทก์จะต้องคอยดูแล บุตรอย่างใกล้ชิดส่วนวันที่ 9 และ 10 นั้น ฝนตก มากน้ำท่วมถนนสายที่โจทก์จะต้องเดิน ทางไปทำงาน และโทรศัพท์เสียหายเป็นจำนวนมาก โจทก์อยู่ไกลจากสถานที่ทำงาน ไม่สามารถเดิน ทางไปทำงานและแจ้งให้จำเลยทราบทาง โทรศัพท์ได้ การที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น มิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่การงาน หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อโจทก์มาทำงานทราบว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลสั่งให้โจทก์ไปพบ แต่โจทก์ไม่ไปพบ แม้จะฟังว่าเป็นการขัดคำสั่งนายจ้างก็ตาม แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงอันไม่จำต้องตักเตือน เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ขาดงานเกินกว่า 3 วันซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 8 ถึงวันที่10 พฤษภาคม 2529 โจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติ เนื่องจากในวันที่8 บุตรของโจทก์ป่วยมากจำเป็นที่โจทก์จะต้องคอยดูแลบุตรอย่างใกล้ชิดส่วนในวันที่ 9 และวันที่ 10 นั้น ปรากฏว่าฝนตกมากในกรุงเทพมหานครน้ำท่วมถนนสายที่โจทก์จะต้องเดินทางไปทำงานและโทรศัพท์เสียหายเป็นจำนวนมาก โจทก์อยู่ไกลจากสถานที่ทำงาน ไม่สามารถเดินทางไปทำงานและแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าทางโทรศัทพ์ได้ ข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวเห็นว่าการที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่ไม่ได้ไปทำงานตามปกติเป็นเวลาสามวัน โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 8 ว่าด้วยการเลิกจ้างนั้น จะต้องเป็นกรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่ข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ไปทำงานตามปกติเนื่องจากมีเหตุจำเป็นอันมิใช่เป็นการจงใจละทิ้งหน้าที่การงานแต่อย่างใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร หาใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังที่จำเลยอ้าง ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์มาทำงานก็ได้ทราบแล้วว่านางดวงทิพย์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีคำสั่งให้โจทก์ไปพบ แต่โจทก์ไม่ยอมไปพบนั้น แม้จะฟังว่าเป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างก็ตาม แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงอันไม่จำต้องตักเตือน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหาได้ไม่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยอาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.