แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้นข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยออกเช็คพิพาทโดยขีดเส้นสีดำในช่องวันที่ไว้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 899 กรณีถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารย่อมลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา 910 วรรคท้ายประกอบ มาตรา 989 จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อ บ. เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกแม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ มีผลเป็นการประกัน หรืออาวัลผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียน ข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัลอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสำเพ็ง เลขที่ 1782070 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 จำนวนเงิน 700,000 บาท ชำระหนี้ให้แก่ผู้มีชื่อ โดยมีโจทก์เป็นผู้สลักหลังเช็ค ต่อมาโจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้มีชื่อ แล้วได้รับเช็คฉบับดังกล่าวมาไว้ในครอบครอง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อให้เรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 โดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 708,836.30 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 708,836.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 700,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยประสงค์จะทำธุรกิจค้าปุ๋ยธรรมชาติเพื่อการเกษตรโจทก์จึงแนะนำให้จำเลยรู้จักกับนายบุญเลี้ยง จิรวารศิริกุล และจำเลยได้กู้ยืมเงินนายบุญเลี้ยง 700,000 บาท ไปลงทุนดำเนินการเกี่ยวกบการค้าปุ๋ยดังกล่าว โดยจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและมอบเช็คพิพาทให้นายบุญเลี้ยงไว้เป็นหลักประกัน ต่อมานายบุญเลี้ยงขอร่วมลงทุนกับจำเลยโดยถือเอาเงินจำนวน 700,000 บาท ที่ให้จำเลยกู้ยืมไปเป็นเงินร่วมลงทุน และตกลงยกเลิกการกู้ยืมเงินโดยคืนหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่จำเลยแล้ว แต่ต่อมาการค้าปุ๋ยธรรมชาติเพื่อการเกษตรไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ จำเลยกับนายบุญเลี้ยงจึงได้ยกเลิกข้อตกลงร่วมทุนมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นอันระงับไป โจทก์ได้มาและครอบครองเช็คพิพาทโดยไม่สุจริต มิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ แต่ได้ร่วมกับนายบุญเลี้ยงกระทำการเพื่อฉ้อฉลจำเลย โดยโจทก์มิได้ชำระเงินตามเช็คในฐานะผู้สลักหลังให้แก่นายบุญเลี้ยงแต่อย่างใด เช็คพิพาทมิได้ลงวันเดือนปีที่ออกเช็คไว้ วันเดือนปีที่ลงในเช็คพิพาทมีการประทับในภายหลังโดยผู้ไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่ใช่วันเดือนปีที่ถูกต้องแท้จริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยออกเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่นายบุญเลี้ยง จิรวารศิริกุล หรือผู้ถือ ต่อมาโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากนายบุญเลี้ยง แล้วนำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาภาษีเจริญ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า การพิจารณาเช็คว่าจะใช้เงินได้หรือไม่ต้องพิจารณาจากสภาพของตัวเช็ค เมื่อมีเส้นสีดำที่ช่องวันที่แสดงว่าไม่ต้องการให้เรียกเก็บเงินนั้น เห็นว่าเช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ต้องการความเชื่อถือในระหว่างผู้สั่งจ่ายและผู้ทรงทั้งหลายว่า เมื่อนำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วจะมีการจ่ายเงินตามเช็คข้อกำหนดเงื่อนไขใด ๆ อันเป็นการห้ามหรือจำกัดการจ่ายเงินจะพึงมีได้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่จำเลยขีดเส้นสีดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่ากระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เช็คนั้นไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 กรณีจึงถือว่าจำเลยออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเช็คหมาย จ.1 และนำเข้าบัญชีโจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงลงวันที่ในเช็คได้ ตามมาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คได้เพราะโจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้วเจ้าหน้าที่ธนคารให้โจทก์ลงชื่อไว้ด้านหลังเช็คเพื่อเรียกเก็บเงินเท่านั้น หาถือว่าเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายไม่ เพราะการอาวัลจะต้องลงลายมือชื่อด้านหน้าเช็ค และเขียนข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัลไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 939 โจทก์ได้รับเช็คไว้โดยไม่ชอบเพราะมิได้ใช้เงินแก่นายบุญเลี้ยง อีกทั้งการที่โจทก์ไปชำระหนี้แทนจำเลยโดยจำเลยไม่ทราบเป็นการชำระหนี้โดยขืนใจลูกหนี้ตามมาตรา 314 จึงใช้ไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่นายบุญเลี้ยง และนายบุญเลี้ยงได้มอบเช็คให้แก่โจทก์เมื่อได้ความว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยมิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออกจึงเป็นเช็คผู้ถือโจทก์ผู้รับมอบเช็คตามมูลหนี้ที่โจทก์ได้ชำระหนี้แก่นายบุญเลี้ยง จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์สลักหลังถือไม่ได้ว่าเป็นการอาวัล นั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อนายบุญเลี้ยงเป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก แม้จำเลยอ้างว่าประสงค์จะออกเช็คระบุชื่อ แต่ด้วยความไม่สันทัดของจำเลยจึงมิได้ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ออกก็ตาม ก็ต้องถือว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นเช็คผู้ถือ ดังนั้น เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คผู้ถือ ผลจึงต้องถือว่าเป็นการประกันหรืออาวัลผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 ซึ่งเป็นการอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการอาวัลตามมาตรา 939 จึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความระบุว่า ใช้ได้เป็นอาวัลดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน