คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้คนงานเข้าพักอาศัยในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมโดยทำการรื้อฝาผนังห้องออกแล้วก่ออิฐบล็อกแทน กับทำพื้นห้องพิพาทใหม่นั้น เป็นการเข้าครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม เมื่อฟ้องระบุว่าจำเลยบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน แต่ทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การที่จำเลยครอบครองห้องพิพาทต่อมาเป็นผลของการบุกรุก ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 365(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่หลบหนีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องแถวสองชั้นเลขที่ 119/6 และ 119/7 ของนายแจ้ง ผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร เพื่อถือการครอบครองห้องดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งหมดและเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2)(3) ประกอบมาตรา 362 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ห้องแถวสองชั้นเลขที่119/4, 119/5, 119/6 และ 119/7 ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1723 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โฉนดที่ดินดังกล่าวมีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกห้องพิพาทหรือไม่ พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยให้คนงานของจำเลยเข้าไปพักอาศัยในห้องพิพาท ประกอบกับจำเลยได้รื้อถอนพื้นและฝาผนังห้องพิพาทของโจทก์ร่วมอันมีลักษณะส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องการถือครอบครองห้องพิพาทอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกห้องพิพาทฎีกาอื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบมาตรา 362 หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่าตราบใดที่จำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทและอยู่ หรือให้บุคคลอื่นอยู่ในห้องพิพาทในนามของจำเลย ตราบนั้นจำเลยก็ยังคงมีความผิดฐานบุกรุกตลอดเวลาไม่ขาดตอนคือเป็นการบุกรุกทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบมาตรา 362 นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยให้คนงานเข้าไปพักอาศัยตลอดจนจำเลยทำการรื้อฝาผนังห้องพิพาทออกแล้วก่ออิฐบล็อกแทน กับทำพื้นห้องพิพาทใหม่ การกระทำของจำเลยเป็นการเข้าไปถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมดังวินิจฉัยตามข้างต้นซึ่งตามฟ้องระบุว่าจำเลยบุกรุกเข้าไประหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน แต่ในทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเริ่มบุกรุกเข้าไปในห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวันหรือกลางคืน เมื่อเป็นดังนี้จึงให้ฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมในเวลากลางวัน ซึ่งความผิดฐานบุกรุกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยเข้าไปถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมแล้ว ส่วนการที่จำเลยครอบครองห้องพิพาทต่อมาเป็นเพียงผลของการบุกรุกเท่านั้น การกระทำของจำเลย จึงไม่ใช่ความผิดต่อเนื่องตราบเท่าที่จำเลยยังถือการครอบครองห้องพิพาทของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 365(3) ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share