คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6184/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสิบสามไปรายงานตัวต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีว่าเป็นคนญวนอพยพตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้คนญวนอพยพที่มีอายุ 12 ปี ขึ้นไปมารายงานตัวต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพก็เพราะกลัวว่าจะถูกจับกุม และก่อนฟ้องคดีนี้บิดาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 และเป็นตา ของโจทก์ที่ 12 ถึงที่ 13ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่าโจทก์ทั้งสิบสามเป็นคนสัญชาติไทย ขอให้เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสิบสามออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ แต่ได้รับการปฏิเสธ แสดงว่าจำเลยทั้งสองยืนยันว่าโจทก์ดังกล่าวยังเป็นคนสัญชาติญวนอยู่ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของนาง จ. โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ซึ่งนาง จ. และโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด สัญชาติไทยของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8ก็ต้องถูกถอนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13ธันวาคม 2515 ข้อ 1 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 จึงมิใช่ผู้ที่มีสัญชาติไทย โจทก์ที่ 12 และที่ 13 เกิดในราชอาณาจักรโดยมีโจทก์ที่ 5และที่ 6 เป็นมารดาโจทก์ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 12และที่ 13 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ถึงแม้โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นมารดาจะได้ถูกถอนสัญชาติไทย แต่มารดาโจทก์ก็เกิดในราชอาณาจักรมิใช่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 12 และที่ 13 จึงมิใช่บุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นคนสัญชาติไทยจำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีอ้างว่าโจทก์ทั้งสิบสามเป็นคนสัญชาติญวน และได้เพิ่มชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพอันเป็นการโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งสิบสาม ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสิบสามเป็นคนสัญชาติไทย ห้าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิเรื่องสัญชาติของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรของคนญวนอพยพซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง โจทก์ทั้งสิบสามจึงเป็นคนญวนอพยพ จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสิบสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 โจทก์ที่ 12และที่ 13 เป็นบุคคลสัญชาติไทย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า การที่โจทก์ทั้งสามสิบไปแจ้งต่อสำนักงานกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีนั้นก็เพราะกลัวว่าจะถูกจับกุมและก่อนฟ้องคดีนี้นายอึ่งบิดาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 และเป็นตาของโจทก์ที่ 12 ถึงที่ 13 ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีว่าโจทก์ทั้งสิบสามเป็นคนสัญชาติไทย ขอให้เพิกถอนชื่อโจทก์ทั้งสิบสามดังกล่าวออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ แต่ได้รับการปฏิเสธแสดงว่าจำเลยทั้งสองยืนยันว่าโจทก์ดังกล่าวยังเป็นคนสัญชาติญวนอยู่จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 และโจทก์ที่ 12ที่ 13 มิใช้บุคคลสัญชาติไทย ซึ่งจะแยกวินิจฉัยสำหรับโจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ก่อนอันมีปัญหาที่โต้เถียงมาเฉพาะในข้อที่ว่านางเจียนมารดาของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งมีสัญชาติญวนนั้นเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือไม่…(ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า) นายเจียนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุตรของนางเจียนซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด สัญชาติไทยของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ก็ต้องถูกถอนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม2515 ข้อ 1 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 จึงมิใช่ผู้ที่มีสัญชาติไทยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ยังมีสัญชาติไทยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังขึ้น
สำหรับโจทก์ที่ 12 และที่ 13 นั้น ข้อเท็จจริงยุติว่าเกิดในราชอาณาจักรโดยมีโจทก์ที่ 5 และที่ 6 เป็นมารดาโดยไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 12 และที่ 13 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (3) ถึงแม้โจทก์ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นมารดาจะได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามที่ได้วินิจฉัยข้างต้น แต่มารดาโจทก์เกิดในราชอาณาจักรมิใช่คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์ที่ 12 และที่ 13 จึงมิใช่บุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 กรณีของโจทก์ที่ 12 และที่ 13 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11ที่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่นั้น ข้อที่โต้เถียงกันในชั้นแรกคือโจทก์ที่ 1 เกิดในราชอาณาจักรหรือไม่… (ซึ่งศาลฏีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า) โจทก์ที่ 1 มิได้เกิดในราชอาณาจักรจึงมิได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 มิใช่คนสัญชาติไทยในการเข้ามาในราชอาณาจักรนั้นโจทก์ที่ 1 ก็มิได้นำสืบว่าได้เข้าโดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ส่วนโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11นั้นได้ความว่าเกิดในราชอาณาจักรโดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นมารดาและไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายถึงแม้ว่าโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ในเมื่อมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ปรากฎบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11 จึงเป็นบุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 9 ถึงที่ 11ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 เสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 ใช้ค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,400บาท ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์คนอื่นให้เป็นพับ.

Share