คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า “ถ้า ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดโดยมิต้องบอกกล่าวให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกัน”แต่ปรากฏว่าในการชำระค่าเช่าซื้อ 9 งวดที่ผ่านมาแม้จำเลยจะชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลาโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อก็ยอมรับชำระ พฤติการณ์จึงแสดงว่า โจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ ดังนั้น หากโจทก์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดและโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยไม่โต้แย้ง ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2526 นายเสกสันต์รุ่งรัตนประเสริฐ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แลนเซียคูเป้ 1 คันจากโจทก์ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับโจทก์ในราคา 488,800 บาท โดยรับโอนสิทธิและหน้าที่จากผู้เช่าเดิม เสมือนเป็นผู้เช่ามาแต่ต้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวน 10,400 บาท ในวันทำสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 10 คืองวดวันที่ 5 มิถุนายน 2527 เป็นต้นมา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่ไม่ส่งมอบโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ได้เมื่อวันที่ 9สิงหาคม 2527 ในสภาพเสียหายมาก ต่อมาโจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 220,000 บาท ราคารถยังขาดอยู่อีก 164,800 บาท โจทก์ถวงถามแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 164,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่ารถยนต์ที่โจทก์ยึดคืนนั้นมีสภาพดี โจทก์ขายในราคาต่ำกว่าราคาจริงและราคาท้องตลาด โจทก์จึงไม่เสียหายคดีขาดอายุความโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปี
จำเลยที่ 3 ให้การว่า รถยนต์ที่โจทก์ยึดคืนมีสภาพดีและโจทก์ขายได้ราคามากกว่า 220,000 บาท โจทก์จึงไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 120,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ และชำระค่าเช่าซื้อกับค้างชำระค่าเช่าซื้อจริงตามฟ้องโจทก์ได้ติดตามยึดรถดังกล่าวคืนแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่คัดค้านว่า สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องยังไม่สิ้นสุดลง เพราะจำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จำเลยทั้งสามฎีกาในข้อนี้ จึงต้องวินิจฉัยปัญหานี้ก่อน
คดีนี้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วฟังว่า จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ตลอดมา เป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง เป็นกรณ๊ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีตามประเด็นที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง จำเลยที่ 1 จึงอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8 นั้น ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวใดโดยมิต้องบอกกล่าว ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกัน ซึ่งหมายความว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาเพียงครั้งเดียวสัญญาเช่าซื้อก็เลิกกันแล้ว นายสวง บินมาดี หัวหน้าแผนกสินเชื่อของโจทก์ก็เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 9 งวด ตรงนัดบ้างผิดนัดบ้าง เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบกับสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8 แล้ว จะเห็นได้ว่าหากโจทก์ถือเอาสัญญาข้อนี้เป็นสำคัญโจทก์คงจะไม่ยอมรับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้ หลังจากผิดนัดแล้วและสัญญาเช่าซื้อจะต้องสิ้นสุดลงก่อนที่จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 ให้โจทก์ พฤติการณ์แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดในการชำระค่าเช่าซื้อครั้งแรกแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญอีกต่อไป ในกรณีนี้หากโจทก์ต้องการจะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดและโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งการยึด ก็เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนคือวันที่ 9 สิงหาคม 2527เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆแก่โจทก์ คงจะต้องรับผิดเฉพาะค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อในระหว่างจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันสัญญาเลิกกัน ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ 31,200…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน21,200 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share