คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5696/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส จำเลยได้นำทรัพย์พิพาทไปจำนองไว้กับธนาคาร เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของ ส. บุตรของจำเลยและผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องให้ความยินยอม หนี้จำนองที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรสจึงถือเป็นหนี้ร่วมกันที่จำเลยกับผู้ร้องต้องรับผิดร่วมกัน ส. ถูกธนาคารฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ จำเลยกลัวว่าทรัพย์พิพาทจะถูกยึดจึงขอกู้เงินจากโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารเพื่อไถ่ถอนจำนอง เมื่อหนี้จำนองเป็นหนี้ร่วมกันและเงินที่นำไปชำระหนี้จำนองก็เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ตามฟ้อง ซึ่งผู้ร้องกับจำเลยจะต้องรับผิดร่วมกัน ผู้ร้องเป็นภริยาของจำเลยไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วน.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 250,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 5908 พร้อมส่ิงปลูกสร้างเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยโดยได้จดทะเบียนสมรสกัน อยู่กินเป็นสามีภรรยากันที่บ้านเลขที่ 165 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินแปลงที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดดังกล่าว ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของร่วมกันตลอดมา ผู้ร้องไม่เคยรู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการที่จำเลยกู้เงินจากโจทก์ จึงขอกันส่วนเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีนี้เป็นของผู้ร้องกึ่งหนึ่ง
โจทก์คัดค้านว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยเพียงผู้เพียว จำเลยกู้เงินโจทก์เพื่อไปประกอบอาชีพร่วมกับผู้ร้อง นำรายได้มาอุปการะเลี้ยงดูครอบครัว รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลในครอบครัวและการศึกษาของบุตร โดยความรู้เห็นและยินยอมของผู้ร้องผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2514 ตามเอกสารหมายร.1 ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2529 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2529 จนกว่าชำระเสร็จ หนี้ถึงกำหนดแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามเอกสารหมาย ร.2 พร้อมบ้าน 1 หลัง ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวเพื่อนำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ มีปัญหาว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาของจำเลยจะร้องขอกันส่วนเอาเงินจากการขายทอดตลาดไว้เป็นส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ เฉพาะทรัพย์พิพาทที่โจทก์นำยึดมีอยู่2 สิ่ง คือบ้านและที่ดิน ผู้ร้องและจำเลยเบิกความเกี่ยวกับทรัพย์พิพาทเป็นทำนองเดียวกันว่า เมื่อผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในปีพ.ศ. 2514 แล้ว ได้ร่วมกันซื้อที่ดินมา 1 แปลง ตามเอกสารหมาย ร.2ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2515-2517 ได้ปลูกบ้านบนที่ดินแปลงดังกล่าว1 หลัง ใช้สำหรับอยู่อาศัยตลอดมา สรุปแล้วทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยได้มาในระหว่างสมรส ทรัพย์สินพิพาทจึงเป็นสินสมรสนอกจากนี้แล้วยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยต่อไปอีกว่า ต่อมาจำเลยได้นำทรัพย์พิพาทไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัดเพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของนางสุภิญญาบุตรของจำเลยและผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท ขณะที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจำนองค้ำประกันนั้นผู้ร้องได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ผู้ร้องได้ให้ความยินยอมด้วย หนี้จำนองที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรสจึงถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ซึ่งจำเลยและผู้ร้องจะต้องรับผิดร่วมกัน ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องการค้ำประกันดังกล่าวว่า จำเลยต้องชำระหนี้แทนนางสุภิญญาโดยต้องไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 60,000 บาทสำหรับจำนวนเงิน 60,000 บาท ที่นำไปไถ่ถอนจำนองนั้น จำเลยอ้างว่าจำเลยยืมมาจากนายเพชรพ่อตาโจทก์ แต่โจทก์โต้เถียงว่า จำเลยยืมเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ไม่ใช่ยืมจากนายเพชร เฉพาะข้อเท็จจริงในส่วนนี้… มีเหตุผลเชื่อได้ว่า จำเลยได้กู้เงินจากโจทก์ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด เพื่อไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทมาจริงเมื่อหนี้จำนองเป็นหนี้ร่วมกันตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นและเงินที่นำไปชำระหนี้จำนองดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ตามฟ้องด้วย ซึ่งผู้ร้องกับจำเลยจะต้องรับผิดร่วมกัน ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยจึงไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนเอาเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทไว้เป็นส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง…”
พิพากษายืน.

Share