แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 35 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการถูกจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้ที่จูงใจหรือผู้อื่นโดยไม่สมัครใจอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม ไม่ได้คุ้มครองโจทก์โดยตรงเป็นพิเศษ หากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็ต้องถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐไม่ใช่กระทำความผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 2(4).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 84 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35, 84 จำคุก1 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำผิด รวมทั้งเคยประกอบคุณงามความดีและรับใช้ประเทศชาติมาก่อนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามมาตรา29 และ 30 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 10 ปี
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สัญญาว่า ถ้าหากได้รบความไว้วางใจในการเลือกตั้งจะสละเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้เพื่อประโยชน์ต่อลูกหลานชาวแปดริ้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าจำเลยเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม จึงลงคะแนนเลือกตตั้งให้จำเลยมากกว่าโจทก์ ถ้าหากจำเลยไม่ฝ่าฝืนต่อกฏหมายดังกล่าว โจทก์จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 มาตรา 35 ไม่ได้จำกัดเฉพาะเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ นั้นเห็นว่า ถึงแม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฏหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง กฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการถูกจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้งแก่ผู้ที่จูงใจหรือผู้อื่นโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม ไม่ได้คุ้มครองโจทก์โดยตรงเป็นพิเศษแต่อย่างใด ถ้าหากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดก็ต้องถือว่า กระทำความผิดต่อรัฐไไม่ใช่กระทำความผิดต่อโจทก์ดังนั้นโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)…”
พิพากษายืน.