แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย มีหน้าที่เกี่ยวด้วยการให้บริการและการปฏิบัติการด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคม เพื่อความสะดวกแก่ประชาชนก็ตาม แต่ผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดวิทยุโทรศัพท์จากในประเทศไปยังต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ค่าธรรมเนียมก็คือสินจ้าง จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าหรือผู้รับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีและสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการสือสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคมซึ่งรวมถึงการให้บริการพูกวิทยุโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยเป็นผู้เช่าเครื่องโทรศัพท์4 หมายเลข จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และได้ใช้บริการพูดวิทยุโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากเครื่องโทรศัพท์ทั้ง 4 หมายเลข รวม 33 ครั้ง เป็นเงิน 23,664 บาทจำเลยในฐานะผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวจึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงิน 23,664 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยใช้บริการของโจทก์ในการพูดโทรศัพท์ติดต่อกับต่างประเทศ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 23,664 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายมีหน้าที่เกี่ยวด้วยการให้บริการและการปฏิบัติการด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคมเพื่อความสะดวกแก่ประชาชนก็ตาม แต่ผู้ใช้เครื่องโทรศัพท์พูดวิทยุโทรศัพท์จากในประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยผ่านเครื่องวิทยุโทรศัพท์ของโจทก์ ผู้ใช้จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ค่าธรรมเนียมก็คือสินจ้างจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าหรือผู้รับทำการงาน เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3030/2523 ระหว่าง การสือสารแห่งประเทศไทย โจทก์นายอารักษ์ ตียาภรณ์ จำเลย ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้นับแต่วันที่ทวงถามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเกิดขึ้นนับแต่วันที่โจทก์บอกกล่าวทวงถามเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 28มกราคม 2529 ถึงวันฟ้องไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์นั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลา 2 ปี นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปจึงขาดอายุความ
พิพากษายืน