แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันศาลมีคำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมชำระเงินให้โจทก์ 14 ล้านบาท ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 ชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค 7 ล้านบาท ส่วนอีก 7 ล้านบาท โจทก์และจำเลยที่ 2จะนำไปฝากประจำธนาคารภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 จะลงชื่อร่วมกันเป็นผู้ฝาก และการถอนต้องลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกัน ไม่ปรากฏว่าคู่กรณีมีความประสงค์ให้โจทก์ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้จำเลยที่ 2 เข้ามาควบคุมการใช้เงินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ยอมร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ในการถอนเงินจากธนาคารโดยอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยที่ 2 ทราบหาได้ไม่ดังนี้ ศาลมีอำนาจสั่งบังคับว่าหากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามนั้นให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้.
ย่อยาว
คดีนี้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1กับพวกต่อศาลแพ่งขอเพิกถอนการให้ที่ดินเพราะเหตุประพฤติเนรคุณและฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม กับได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อศาลแพ่งขอให้โอนหุ้นที่จำเลยโอนโดยใช้เอกสารปลอมคืนโจทก์ มีทุนทรัพย์ 50 ล้านบาทต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์สัญญาจะให้เงินโจทก์ 20 ล้านบาท เมื่อโจทก์ถอนฟ้องคดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว และจำเลยที่ 1 ที่ 2 นำตั๋วสัญญาใช้เงินออกโดยจำเลยที่ 3 รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาทมามอบให้โจทก์ต่อมาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวของโจทก์สูญหาย และโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันนำตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไปเรียกเก็บเงิน ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ ไม่เคยสัญญาจะให้เงินตอบแทนแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์
หลังจากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 3 ปาก โจทก์และจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2ยอมชำระเงินให้โจทก์ 14 ล้านบาทภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2531โดยจะชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค 7 ล้านบาท ส่วนอีก 7 ล้านบาทโจทก์และจำเลยที่ 2 จะนำไปฝากประจำไว้กับธนาคารภายในวันที่ 15 กรกฎาคม2531 โดยโจทก์และจำเลยที่ 2 จะลงชื่อร่วมกันเป็นผู้ฝาก และการถอนต้องลงลายมือชื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกัน ทั้งนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยทั้งสองอีก กับโจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ที่แจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองที่กองปราบภายใน7 วัน ปรากฎตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 15 มิถุนายน 2531ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม และออกคำบังคับตามยอมเมื่อวันที่15 มิถุนายน 2531
ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม 2531 โจทก์ยื่นคำร้องว่าโจทก์ประสงค์จะใช้เงินในบัญชีเงินฝากที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันฝากตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ขำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงลายมือชื่อถอนเงินร่วมกับโจทก์ ขอให้เรียกจำเลยที่ 2 มาลงชื่อในใบเบิกถอนเงินให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมลงลายมือชือในใบเบิกถอนเงินให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้วมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ถอนเงินจากธนาคารชำระหนี้ให้โจทก์ภายใน 40วัน หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติ่ตามให้ถือเอาคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าการที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินจำนวน 7 ล้านบาท จากธนาคารให้โจทก์ เนื่องจากโจทก์มิได้แจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยที่ 2 ทราบตามเจตนารมณ์ของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 เข้ามาควบคุมการใช้เงินของโจทก์นั้น หามีเหตุผลสนับสนุนไม่ เพราะเงินจำนวน 7 ล้านบาทที่นำไปฝากไว้กับธนาคารนั้นเป็นเงินส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีข้อตกลงว่าในการถอนเงินโจทก์และจำเลยที่ 2 จะต้องลงลายมือชื่อร่วมกัน เมื่อโจทก์แสดงความประสงค์จะถอนเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ จำเลยที่ 2ก็จำต้องร่วมลงลายมือชื่อถอนเงินนั้นด้วยเพื่อให้โจทก์ได้รับเงินนั้นตามสิทธิของโจทก์ นอกจากนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็หามีข้อความใดที่แสดงว่า คู่กรณีมีเจตนาตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เข้ามาควบคุมการใช้เงินของโจทก์ไม่ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างถึง การที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้มีการปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากข้อความที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความบ้าง เช่น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุให้ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากประจำเป็นจำนวน 7 ล้านบาทให้โจทก์ที่ะนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่แต่ในทางปฏิบัติได้ตกลงกันเปิดเป็นบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ให้แก่โจทก์ที่ะนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาคลองตันแทน อันแสดงว่าได้มีการตกลงกันใหม่นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่สัญญาประนีประนอมยอมความมกำหนดให้ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์เป็นบัญชีประเภทประจำที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่นั้น เป็นแต่รายละเอียดของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่กรณีย่อมตกลงกันปฏิบัติให้ผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้เดิมได้ ในเมื่อข้อตกลงนั้นมิได้กระทบกระเทือนถึงจำนวนเงินอันเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความแต่แม้คู่กรณีจะได้ตกลงกันปฏิบัติให้ผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้เดิมดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็ไม่ปรากฎว่าคู่กรณีมีความประสงค์ให้โจทก์ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยที่ 2 ทราบ เพื่อให้จำเลยที่ 2เข้ามาควบคุมการใช้เงินของโจทก์แต่ประการใด ฉะนั้น จำเลยที่ 2จะปฏิเสธไม่ยอมร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ในการถอนเงินจากธนาคารโดยอ้างว่าดจทก์มิได้แจ้งจุดประสงค์ในการใช้เงินให้จำเลยที่ 2ทราบหาได้ไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์เพื่อถอนเงินจากธนาคารชำระให้โจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามยอม และโดยที่จำเลยที่ 2จะต้องชำระหนี้ด้วยการร่วมลงลายมือชื่อกับโจทก์ถอนเงินจากธนาคารอันเป็นการกระทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งบังคับว่าหากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามนั้น ให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ได้ เป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม มิใช่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความหรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาตามยอมดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กล่าวอ้าง คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อชบแล้ว…”
พิพากษายืน.