คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5159/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 คงมีแต่จำเลยที่ 5เท่านั้นที่อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ถอนอุทธรณ์แล้วแต่เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5เป็นคนร้าย ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ 4 ด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน 4 กระบอกจี้ขู่เข็ญบังคับว่าในทันใดนั้นจะยิงประทุษร้ายผู้เสียหายมิให้ต่อสู้ขัดขืน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ เพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อความสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,340, 340 ตรี ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์จำนวน7,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คนละ 18 ปี จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 5มีกำหนด 12 ปี ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 7,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอจะลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้ แม้จำเลยที่ 3และที่ 4 มิได้อุทธรณ์ แต่เหตุดังกล่าวอยู่ในลักษณะคดีพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นคนร้าย ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ 4ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share