แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยรับเป็ดของกลางจำนวนมากถึง 1,000 ตัวไว้จาก ป. โดยไม่มีข้อตกลงในการซื้อขายหรือฝากเลี้ยงกันในลักษณะใดนั้น ถือได้ว่าเป็นการรับไว้โดยประการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า รับเป็ดของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335,357, 83 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคา 14,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ลงโทษจำคุกคนละ2 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดฐานรับของโจร ของกลางผู้เสียหายได้รับคืนแล้ว คำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ยกเสีย และยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ยกฟ้องจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานรับของโจรแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก เพราะการกระทำของจำเลยที่ 3 ยังไม่เป็นการซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิด จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้ตกลงรับซื้อเป็ดของกลางไว้จากนายปอง เพราะจำเลยที่ 3 จะต้องไปสอบถามเถ้าแก่เสียก่อนว่าจะรับซื้อหรือไม่และจำเลยที่ 3 รับเอาเป็ดของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 รับเป็ดของกลางเป็นจำนวนมากถึง 1,000 ตัวไว้จากนายปองโดยไม่มีข้อตกลงในการซื้อขายหรือฝากเลี้ยงกันในลักษณะใดนั้น ถือได้ว่าเป็นการรับไว้โดยประการใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 แล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3ที่อ้างว่ารับเป็ดของกลางไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์นั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.