คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4929/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 กำหนดให้โจทก์สามารถนำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากรได้โดยชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกันก็ได้ แต่โจทก์เลือกชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนด ถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรส่วนที่เกินโดยสมัครใจ การฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินอากรส่วนที่เสียไว้เกินจึงต้องนำอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ โจทก์มาฟ้องเรียกร้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า คดีจึงขาดอายุความ ลวดเหล็กชุบ ทองแดง สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจากต่างประเทศใช้ผลิตยางรถยนต์ ส่วนสินค้าของบริษัท อ. ใช้ผลิตยางรถจักรยานยนต์และต่างมีขนาดหน้าตัดไม่เท่ากัน ทั้งมีปริมาณการนำเข้าแต่ละครั้งแตกต่างกันมาก ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันพอที่จะเปรียบเทียบราคากันได้ จึงไม่อาจนำราคาสินค้าของบริษัท อ. มาประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาท ขณะที่โจทก์นำเข้าได้ เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะชี้ให้เห็นได้ว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทควรจะเป็นอย่างอื่น จึงพออนุมานได้ว่าราคาสินค้าพิพาทตามที่โจทก์ซื้อมานั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อลวดเหล็กชุบทองแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง0.037 นิ้วจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทำยางรถยนต์ และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อเสียอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแก่จำเลยตามราคาที่ซื้อมาถูกต้องแล้วแต่จำเลยได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าและชำระค่าภาษีอากรเพิ่มขึ้นอีกเป็นการไม่ชอบ โจทก์อุทธรณ์แล้ว จำเลยก็ยังวินิจฉัยยืนตามราคาเดิม จึงขอให้เพิกถอนการประเมิน และให้จำเลยคืนเงินที่เรียกราคาสูงเกินไปให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การแจ้งประเมินราคาของเจ้าหน้าที่จำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ทั้งฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของโจทก์(ที่ถูกจำเลย) เฉพาะสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้องในเที่ยวที่ 2ถึงเที่ยวที่ 6 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 119-41416, 119-41164,129-42134, 111-4132 (ที่ถูก 010-41312) และ 021-41188 โดยให้ถือราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามบัญชีราคาสินค้าที่โจทก์อ้างส่งไว้ในคดีนี้เป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บภาษีอากร ส่วนสินค้าที่โจทก์นำเข้าในเที่ยวแรกตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 189-42318 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกคืนค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าเที่ยวแรกขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าโจทก์นำสินค้าเที่ยวแรกเข้ามาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2529 และชำระค่าภาษีอากรเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2531 ซึ่งเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าเข้าและชำระค่าภาษีอากร โจทก์อุทธรณ์ว่า อายุความฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียมีกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น นำมาปรับแก่คดีของโจทก์ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้เสียเงินภาษีอากรเกินด้วยความสมัครใจกรณีของโจทก์ต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ซึ่งมีกำหนด 11 ปีมาปรับแก่คดี ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 41 โจทก์สามารถนำสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากรได้โดยชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกันก็ได้ แต่โจทก์เลือกชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดดังนี้จึงถือได้ว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรส่วนที่เกินโดยสมัครใจการฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินอากรส่วนที่เสียไว้เกินจึงต้องนำอายุความ2 ปี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า มาใช้บังคับ โจทก์มาฟ้องเรียกร้องขอคืนค่าอากรที่เสียไว้เกินจำนวนเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าคดีของโจทก์ส่วนนี้จึงขาดอายุความดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สินค้าพิพาทที่โจทก์ทำคำโต้แย้งราคาไว้ได้แก่สินค้าที่โจทก์นำเข้าเที่ยวที่ 2 ถึงเที่ยวที่ 6 นั้นมีราคาแท้จริงในท้องตลาดเป็นเท่าใดข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในแบบแสดงรายการการค้าคือตันละ 725 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซี.ไอ.เอฟ. สำหรับการนำเข้าสินค้าพิพาทเที่ยวที่ 2 กับเที่ยวที่ 3 และตันละ 733 เหรียญสหรัฐอเมริกาซี.ไอ.เอฟ. สำหรับเที่ยวที่ 4 ถึงเที่ยวที่ 6 นั้น เป็นราคาที่โจทก์ได้ทำสัญญากับผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นและโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าพิพาทไปในราคาดังกล่าวจริง จำเลยนำสืบว่า ราคาดังกล่าวจะถือเป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดไม่ได้ เพราะบริษัทอีโนเว รับเบอร์ จำกัด นำสินค้าประเภทนี้เข้ามาในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่โจทก์นำเข้าในราคากิโลกรัมละ 171 เยนญี่ปุ่นเอฟ.โอ.บี. จึงต้องถือราคาดังกล่าวเป็นราคาท้องตลาด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สินค้าพิพาทใช้สำหรับผลิตยางรถยนต์ ส่วนสินค้าของบริษัทอีโนเว รับเบอร์ จำกัด ใช้ผลิตยางรถจักรยานยนต์ จึงเป็นสินค้าที่นำมาใช้เพื่อผลิตผลที่ต่างกัน และสินค้าพิพาทมีขนาดหน้าตัดกว้าง 0.137 นิ้ว หรือประมาณ 1.9398มิลลิเมตร ส่วนสินค้าของบริษัทอีโนเว รับเบอร์ จำกัดหน้าตัดกว้าง0.97 มิลลิเมตร ขนาดโตกว่าสินค้าพิพาท ดังนั้นย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันพอที่จะเปรียบเทียบราคากันได้ ทั้งได้ความว่าสินค้าพิพาทนี้โจทก์นำเข้าครั้งละ 19 ตันเศษ แต่สินค้าของบริษัทอีโนเว รับเบอร์ จำกัด มีเพียง 7 ตันเศษเท่านั้น การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากและขนาดเล็กกว่าย่อมมีราคาต่อหน่วยถูกกว่าสินค้าของบริษัทอีโนเวรับเบอร์ จำกัด นายสุพัฒน์ หิรัญศิริวัฒน์ พยานจำเลยเบิกความว่านอกจากโจทก์นำสินค้าดังกล่าวเข้ามาแล้ว ยังมีบริษัทกู๊ดเยียร์ จำกัดนำสินค้าชนิดเดียวกันสั่งเข้ามาจากบริษัทผู้ผลิตรายเดียวกับที่โจทก์สั่งเข้ามาและสั่งเข้ามาเพื่อใช้ผลิตยางนอกรถยนต์ เช่นเดียวกับโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 95 อันดับที่ 14, 15, 16, 21, 25 และ 26ปรากฏว่าราคาสินค้าที่บริษัทกู๊ดเยียร์ จำกัด สำแดงไว้นั้นยังต่ำกว่าราคาของโจทก์เสียอีก โดยมีราคาเพียงตันละ 675 เหรียญสหรัฐอเมริกา เอฟ.โอ.บี ดังนั้นที่จำเลยถือราคาที่บริษัทอีโนเวรับเบอร์ จำกัด นำสินค้าที่ถือไม่ได้ว่าเป็นชนิดและประเภทเดียวกันกับสินค้าพิพาทมาประเมินราคาของสินค้าพิพาทจึงไม่ถูกต้องที่จะถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทในขณะที่โจทก์นำเข้า และเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทควรจะเป็นอย่างอื่น จึงพออนุมานได้ว่าราคาสินค้าพิพาทตามที่โจทก์ซื้อมานั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share