คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4803/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2525แต่หนังสือไปถึงผู้รับคือโจทก์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 ป.พ.พ.มาตรา 130 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าการแสดงเจตนาทำให้บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทางย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ไปถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นต้นไป ดังนั้นหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมรายนี้ของจำเลยย่อมมีผลนับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไป จึงพ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคสอง ดังนี้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาประกันชีวิต.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2524 จำเลยทำสัญญารับประกันชีวิตนางสุนี จิตตะยโสธร แบบออมทรัพย์สงเคราะห์ จำนวนเงิน 54,400 บาท วันที่ 5 มีนาคม 2525 อันเป็นเวลาภายหลังจากนางสุนีเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยเกินกว่า 180 วันแล้ว นางสุนีถึงแก่กรรมด้วยโรคติดเชื้ออย่างรุนแรง โจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ที่นางสุนีเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยดังกล่าวได้แจ้งเรื่องการตายของนางสุนีเพื่อขอรับเงินตามกรมธรรม์ แต่จำเลยกลับมีหนังสือบอกล้างสัญญาดังกล่าวมายังโจทก์ โดยจำเลยไม่มีสิทธิที่จะบอกล้างได้ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยที่โจทก์ควรมีควรได้จากต้นเงิน 54,400 บาท ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นเวลา 10 เดือนเป็นเงิน 3,400 บาท รวมเป็นที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น57,800 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน 57,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ในเวลาทำสัญญาประกันชีวิต นางสุนี จิตตะโยธรผู้เอาประกันชีวิต รู้อยู่แล้วว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวานโรคติดยากล่อมประสาท โรคปวดในข้อ และโรคประสาทซึมเศร้า แต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงให้จำเลยทราบ มิฉะนั้นแล้วจำเลยจะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้นางสุนียังแถลงข้อความอันเป็นเท็จว่าตนเองมีสุขภาพสมบูรณ์ดีทุกประการ การปกปิดความจริงและแถลงข้อความเท็จดังกล่าวทำให้จำเลยสำคัญผิด สัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 จำเลยได้บอกล้างแล้วสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 54,400 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในชั้นฎีกาโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันว่า นางสุนี จิตตะยโสธร มารดาโจทก์เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2524ในวงเงิน 54,400 บาท โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมานางสุนีถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2525 ตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งระบุสาเหตุที่ตายว่าเกิดจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงโจทก์จึงยื่นคำขอรับประโยชน์พร้อมทั้งยื่นใบรับรองแพทย์เอกสารหมายจ.1 ให้แก่จำเลยด้วย ซึ่งจำเลยได้รับทราบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2525ใบรับรองแพทย์นี้ออกให้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2525 มีข้อความระบุว่านางสุนีเคยไปรับการตรวจรักษากับทางโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมามาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 ด้วยโรคประสามซึกเศร้ารักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1 วัน จำเลยได้ให้บริษัทไดมอนด์แอดจัสเม้นท์จำกัด สอบสวนเกี่ยกับสุขภาพของนางสุนีผู้ตายและให้ความเห้นเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ บริษัทดังกล่าวรายงานผลการสอบสวนให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2525ตามเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งระบุว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคปวดในข้อได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลยโสธร นอกจานี้ผู้ตายยังป่วยเป็นโรคประสาทชนิดซึมเศร้า เบาหวาน และติดยากล่อมประสาท ซึ่งเป็นระยะทั้งก่อนและหลังทำประกันได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาและบริษัทเสนอความเห็นว่าควรบอกล้างสัญญา (กรมธรรม์) ประกันชีวิตรายนี้ จำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.6 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2525 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 12 เดือนเดียวกัน โจทก์จำเลยรับกันในชั้นฎีกาว่าสัญญาประกันชีวิตรายนี้เป็นโมฆียะ แต่คู่ความโต้แย้งกันในปัญหาที่ว่าจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมนี้โดยชอบหรือไม่ โดยคู่ความโต้แย้งกันในข้อที่ว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างเมื่อใด โจทก์อ้างว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2525ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.1 ส่วนจำเลยอ้างว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ 7 เมษายน2525 จากรายงานของบริษัทไดมอนด์แอดจัสเม้นท์ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.74 ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อโต้แย้งดังกล่าวของคู่ความในชั้นฎีกาแล้วเห็นว่า จำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่5 พฤษภาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.8 แต่หนังสือนี้ไปถึงผู้รับคือโจทก์เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2525 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย ล.9 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 130 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า การแสดงเจตนาทำให้แก่บุคคลผู้อยู่ห่างโดยระยะทางย่อมมีผลนับแต่เวลาที่ไปถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นต้นไปดังนั้น หนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมรายนี้ของจำเลยย่อมมีผลนับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไป จึงพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ ไม่ว่าจะถือว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมในวันที่ 26 มีนาคม 2525 หรือวันที่ 7เมษายน 2525 ก็ตาม การบอกล้างโมฆียะกรรมของจำเลยจึงไม่ชอบทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคสอง จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาประกันชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน ไม่ชอบโดยฟังว่าจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2525 นั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล…”
พิพากษายืน.

Share