คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4779/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรของจำเลยย่อมยุติไปตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งประเมินไว้ จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นหนี้ค่าภาษีอากรในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525 ถึงปี พ.ศ. 2526 ต่อมาจำเลยที่ 2ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1080 ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 2จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ตาม เมื่อการออกไปดังกล่าวยังไม่เกิน 2 ปี โจทก์ยังมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1077(2),1080, และ 1087 โจทก์แจ้งการประเมินภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ต้องเสียภาษีอากรแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ด้วยจำเลยที่ 2มิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน กรณีไม่มีเหตุให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยที่ 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามลำดับ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแจ้งให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525 และ 2526แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 370,831.30 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างปี พ.ศ. 2525 – 2527 โจทก์ไม่เคยแจ้งการประเมินภาษีแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าภาษีอากรจำนวน 370,830 บาทแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะที่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์อยู่ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ที่ถูกประเมินและไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ทราบ ในเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานนั้น เจ้าพนักงานได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1จึงต้องยุติไปตามที่เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งการประเมินไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในระหว่างปี พ.ศ. 2525 – กลางปี พ.ศ. 2527ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มูลหนี้ภาษีอากรในคดีนี้เกิดขึ้นก็ตาม แต่เมื่อต่อมาจำเลยที่ 2 ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1152 ประกอบมาตรา 1081 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ยังไม่เกิน 1 ปี โจทก์ก็มีอำนาจที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168ประกอบมาตรา 1077(2) มาตรา 1081 และมาตรา 1087
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะที่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ภาษีอากรอยู่มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ถูกแจ้งการประเมินภาษีอากรตามที่กล่าวแล้วข้างต้นสภาพแห่งข้อหาของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 คือ จำเลยที่ 1เป็นหนี้ภาษีอากรอยู่เท่าใด จำเลยที่ 2 ต้องเข้ามารับผิดในฐานะใดโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องแล้วว่า หนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนั้นเป็นหนี้ภาษีอากรในปีใด จำนวนเท่าใด จำเลยที่ 2 ซึ่งเคยเป็นหุ้น ส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรอยู่เท่าใด จำเลยที่ 2 ต้องเข้ามารับผิดในฐานะใด โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องแล้วว่าหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนั้นเป็นหนี้ภาษีอากรในปีใดจำนวนเท่าใด จำเลยที่ 2 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1และออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไปยังไม่ครบสองปี จึงต้องรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้เป็นการแสดงให้เห็นแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
พิพากษายืน.

Share