แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ราคาตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ ที่จำเลยใช้ประเมินเรียกเก็บอากรเพิ่มจากโจทก์ เป็นราคาที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่โจทก์นำเข้าในต่างประเทศกำหนดขึ้นสำหรับเสนอขายสินค้าเป็นการทั่วไปโดยผู้ผลิตสินค้าแจ้งมาว่า ราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ตั้งขึ้นเพื่อเสนอขายดังกล่าวจำเป็นต้องตั้งราคาขายไว้เพื่อการเจรจาซื้อขายกันต่อไป เมื่อมีการเจรจาขายสินค้าแล้วตกลงซื้อขายกันราคาจะต่ำกว่าราคาที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อขาย ดังนี้ ราคาสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าหรือไพรซ์ลิสท์ จึงไม่ใช่ราคาที่ได้มีการซื้อขายกันแท้จริง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงเป็นราคาทำขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับโจทก์และเป็นราคาสินค้าที่ใช้จำหน่ายเฉพาะในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าเป็นราคาที่มีการตกลงซื้อขายกันจริงโดยมิได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายให้ราคาต่ำกว่าปกติที่จะซื้อขาย จึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าประเภทอะไหล่รถจักรยานยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร โดยได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ทำการประเมินอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวจากโจทก์ โดยทำการประเมินภาษีอากรเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 1,795,201.72 บาท โจทก์เห็นว่า การประเมินภาษีอากรไม่ถูกต้อง แต่เกรงว่าจำเลยจะงดรับปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าของโจทก์ จึงจำเป็นต้องนำเงินจำนวน 1,795,201.72 บาท ไปชำระให้แก่จำเลย พร้อมทั้งโต้แย้งการประเมินโดยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมิน การประเมินอากรของจำเลยอาศัยราคาตามบัญชีสูงสุดหรือไพรซ์ลิสท์ของบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ จำกัดประเทศญี่ปุ่น โดยราคาตามบัญชีหรือไพรซ์ลิสท์ดังกล่าวเป็นราคาที่ผู้ผลิตทำขึ้นและจัดส่งให้ลูกค้าทั่วโลกเพื่อเป็นคำเสนอราคาขายมิใช่ราคาอันแท้จริงตามท้องตลาด การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 1,795,201.72 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จึงขอให้เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลย และให้จำเลยคืนเงินภาษีอากร จำนวน 1,795,201.72 บาท ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่า การประเมินราคาสินค้าของเจ้าพนักงานของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยเฉพาะแต่อากรขาเข้า และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,241,144.84บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนายวิภาส รุจนากร เจ้าพนักงานผู้ประเมินราคาตามใบขนสินค้าที่พิพาทกันในคดีนี้ว่า เหตุที่ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เนื่องจากเป็นราคาที่กรมศุลกากรอนุมัติให้ใช้เป็นเกณฑ์ประเมินซึ่งบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3นั้นตามทางนำสืบของจำเลยคงได้ความว่า จำเลยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยจัดหาและส่งเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โดยพยานจำเลยไม่มีปากใดเบิกความให้เห็นว่า ราคาที่ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 นั้นเป็นราคาสำหรับซื้อขายกันในประเทศไทยด้วย ซึ่งในข้อนี้นายวานิช จันทร์จรุงจิต พยานโจทก์เบิกความว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 นั้นเป็นราคาที่ผู้เสนอขายกำหนดขึ้นเองเพื่อเสนอขายแก่ลูกค้าทั่วโลก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามลักษณะรายการที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 แล้วก็เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดราคาสินค้าของบริษัทผู้ผลิตไว้ในลักษณะที่เป็นการทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจง และไม่เป็นราคาที่จะทำการซื้อขายกัน ณ ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ ราคาที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2และ ล.3 จึงน่าจะเชื่อได้ตามคำเบิกความของนายวานิชว่าเป็นเพียงราคาที่เสนอขายแก่ลูกค้าทั่วโลกมิใช่ราคาที่กำหนดหรือตกลงขายให้แก่ลูกค้าในประเทศใดประเทศหนึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย นอกจากนั้นนายเจษฎา ไชยานนท์ พยานจำเลยยังเบิกความด้วยว่า ถ้าถือตามราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 มาคำนวณเป็นต้นทุนแล้ว จะมีราคาสูงกว่าราคาจำหน่าย ส่วนราคาตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109 ในคดีหมายเลขดำที่ 272/2530 ของศาลภาษีอากรกลางนั้น นายวานิชเบิกความว่าเป็นบัญชีราคาสินค้าที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทผู้ผลิตกับโจทก์และเป็นราคาสินค้าเครื่องอะไหล่รถจักรยานยนต์ที่ใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และความที่ปรากฏในหน้าแรกของเอกสารจ.109 ก็มีข้อสังเกตไว้มีความว่า “ราคานี้มีจำหน่ายเฉพาะในตลาดประเทศไทย” จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า ราคาตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109 ดังกล่าวมิใช่ราคาที่จำหน่ายในประเทศไทย หรือมิใช่ราคาที่ได้มีการซื้อขายกันจริงระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งในการซื้อขายสินค้าอะไหล่รถจักรยานยนต์ของโจทก์นั้น นายวานิชเบิกความว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าปรากฏตามใบอินวอยซ์ เอกสารหมาย จ.7 และได้สำแดงราคาตรงตามใบอินวอยซ์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งราคาที่สำแดงนั้นเป็นราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.109 การชำระราคาก็ได้ชำระราคาแก่ผู้ขายในต่างประเทศ ในราคาตามบัญชีราคาสินค้า โดยวิธีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า โจทก์มิได้ซื้อหรือชำระราคาตามที่ปรากฏในใบสำแดงราคาสินค้า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของนายวานิชว่า โจทก์ได้ตกลงซื้อและชำระราคาให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศตามราคาบัญชีราคาสินค้าที่กำหนดไว้ในเอกสารหมายจ.109 นอกจากนี้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 บัญญัติว่า “คำว่า “ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนของขาเข้าไม่รวมค่าอากร)ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด” ในเมื่อราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ปรากฏในเอกสารหมายล.2 และ ล.3 ที่จำเลยอ้างมาเพื่อประเมินเรียกเก็บอากรเพิ่มนั้นเป็นราคาที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดขึ้นสำหรับการเสนอขายสินค้าเป็นการทั่วไปดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น และยังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่โจทก์นำเข้าแจ้งมาให้ทราบว่าราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ตั้งขึ้นเพื่อเสนอขายนั้น จำเป็นต้องตั้งราคาขายไว้สูงเพื่อการเจรจาซื้อขายกันต่อไป เมื่อมีการเจรจาขายสินค้าแล้วตกลงซื้อขายกันราคาจะต่ำกว่าราคาที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อขาย ดังนั้น ราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.2 และล.3 จึงมิใช่ราคาที่ได้มีการซื้อขายกันจริง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับราคาที่ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109 นั้น ได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า เป็นราคาซื้อขายสินค้าอะไหล่รถจักรยานยนจต์สำหรับผู้สั่งซื้อในประเทศไทย และโจทก์ได้ชำระราคาให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศตามราคาเท่าที่ระบุไว้ในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109ทั้งจำเลยก็เคยประเมินอากรขาเข้าตามราคาที่โจทก์เคยสำแดงในใบขนซึ่งเป็นราคาตามที่ระบุไว้ในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109ดังกล่าวตลอดมา จำเลยเพิ่งมาประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าตามราคาที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ในปี พ.ศ. 2529เท่านั้น และได้ความจากคำเบิกความของนายประพฤติ ราชูพิมล ว่า ราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 นั้นในปี พ.ศ. 2530จำเลยก็ไม่ได้ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารสองฉบับนี้สำหรับประเมินอากร แต่ใช้ราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่โจทก์เสนอเข้ามา และตามคำเบิกความของนายมาโนช บุญค้ำ หัวหน้าฝ่ายนำเข้าของจำเลยก็ได้ความว่า ราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงไว้ในใบขนนั้นตรงกับบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 เป็นส่วนมาก และรายการตามที่ระบุไว้ในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109 ส่วนใหญ่ตรงกับรายการในบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าราคาที่โจทก์สำแดงโดยถือราคาตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมายจ.109 นั้น เป็นราคาที่มีการตกลงซื้อขายกันจริงโดยมิได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายให้ราคาต่ำกว่าปกติที่จะซื้อขาย จึงต้องถือว่าราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนตอนนำเข้าโดยถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ผลิตตามบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.109เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด…”
พิพากษายืน.