แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามอาศัยอยู่ในห้องแถวของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นสิทธิอาศัยทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 จะนำบทบัญญัติเรื่องอาศัยมาบังคับแก่จำเลยมิได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล โดยเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นเจ้าของห้องแถว 6 ห้อง เลขที่172/32 ถึงเลขที่ 172/37 ของโครงการพัฒนาเกษตรลำปาว ตำบลอุ่มเม่าอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยราชการของโจทก์จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ และเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ตำแหน่งคนงาน ประจำอยู่ที่โครงการพัฒนาเกษตรลำปาว จำเลยที่ 3 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสามได้รับสิทธิอาศัยในห้องแถวเลขที่172/34 ดังกล่าวจากโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2525 เวลากลางคืนหลังเที่ยงห้องแถวดังกล่าวทั้ง 6 ห้อง ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมดเพราะความผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ได้รับสิทธิอาศัย โดยก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 วัน ไฟฟ้าแสงสว่างในห้องนอนชั้นบนใช้การไม่ได้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ตามกฎหมาย จะต้องสงวนทรัพย์สินที่อาศัยเสมอวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตน และต้องบำรุงรักษา ทั้งทำการซ่อมแซมหลอดไฟฟ้าและอุปกรณ์ให้ใช้การได้ตามปกติ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่ดูแลจำเลยที่ 1 กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 จุดไฟกับวัตถุที่ให้แสงสว่างตั้งไว้ใกล้ที่นอนและมุ้งที่กางไว้ในห้องนอน เป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้มุ้งและที่นอน แล้วลุกลามไหม้ห้องแถว 6 ห้องของโจทก์ดังกล่าวค่าเสียหายคิดเป็นเงิน332,387 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องสิทธิอาศัย จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จุดไฟกับวัตถุที่ให้แสงสว่างไว้ใกล้ที่นอนและมุ้งที่กางไว้ในห้องนอน แล้วไปทำธุระที่อื่นโดยไม่ได้ดับไฟที่จุดไว้นั้น เป็นความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยแทนที่จำเลยที่ 1 จะไม่นำวัตถุติดไฟไว้ใกล้มุ้งและที่นอน หรือควรจะดับไฟที่จุดไว้เสียก่อนที่จะไปทำธุระอื่น ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้เพลิงลุกไหม้ห้องแถว 6 ห้อง ของโจทก์ดังกล่าวเสียหาย คิดเป็นเงิน 332,387 บาท การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ทราบเหตุเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์จึงต้องฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงิน 332,387 บาท และดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามได้อาศัยอยู่ในห้องแถวของโจทก์จริง เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามใช้และสงวนทรัพย์สินของโจทก์ตามหน้าที่ตามกฎหมายดังเช่นวิญญูชนสงวนทรัพย์สินของตน เหตุเพลิงไหม้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เป็นอุบัติเหตุ จำเลยทั้งสามมิได้เป็นผู้ก่อขึ้นจำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินความเป็นจริง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เคยถูกต้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 669/2527 ของศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยประมาท และได้พิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญา เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย และอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2525 เวลาประมาณ 21 นาฬิกาเกิดเพลิงไหม้ที่ห้องนอนชั้นบนของห้องแถวเลขที่ 172/34 ซึ่งเป็นบ้านพักของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัย แล้วลุกลามไหม้ห้องแถวติดกันของโจทก์ที่ให้พนักงานคนอื่นอยู่อาศัยอีก 5 ห้องพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 669/2527 ในข้อหาฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้ห้องแถวของโจทก์โดยประมาท คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาท คดีถึงที่สุดปัญหาว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่แม้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 669/2527 ของศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ห้องแถวของโจทก์ซึ่งผูกพันคดีนี้เป็นคดีส่วนแพ่งให้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวนั้น เห็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันว่า เหตุเกิดเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นมารดาบิดาจึงไม่ต้องร่วมรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำผิดหน้าที่ผู้อาศัย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่อาศัยเสียหาย คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ หากต้องรับผิดจะต้องรับผิดเพียงใดและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นทั้งสามข้อดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นพิพาททุกข้อดังกล่าวคู่ความได้นำสืบมาจนสิ้นกระแสความแล้ว จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่ก่อนแต่อย่างใด
ประเด็นแรก จำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยในห้องแถวเลขที่172/34 ของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยดังกล่าวมิใช่เป็นสิทธิอาศัย ทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติบรรพ 4 ลักษณะ 5 ว่าด้วยสิทธิอาศัยมาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน.