แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระเงินคืนตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลูกหนี้ชำระเงินตามฟ้องให้เจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระและเจ้าหนี้มิได้ดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปอีกแต่เมื่อปรากฎว่าหนี้ดังกล่าวมีที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนหนี้จำนองเป็นประกัน และไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ มากมายไม่มีทางชำระหนี้ ดังนี้ จึงฟังไม่ได้ว่า หนี้รายดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ทำขึ้นเมื่อได้รู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำหนี้ไปขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(2)
ย่อยาว
คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดบำรุงไทยกสิกรรม ที่ 1นายสุรินทร์ ดุลยธรรมภักดี ที่ 2 นายฮวดเซ้ง แซ่เบ้ ที่ 3เป็นจำเลยขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดบำรุงไทยกสิกรรม ที่ 1 นายสุรินทร์ดุลยธรรมภักดี ที่ 2 ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม2529 ธนาคารทหารไทย จำกัด โดยนายจรูญ ชัยวิเชียรผู้รับมอบอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญากู้สัญญาค้ำประกันและสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีรวมเป็นเงิน 46,367,708.52 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วได้ความตามทางสอบสวนว่าหนี้อันดับ 1 เป็นหนี้ตามคำพิพากษาและศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่2903/2523 ที่ศาลแพ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2523 บังคับให้ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมคิดถึงวันที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นเงินรวม 32,911,562.05บาท ให้เจ้าหนี้ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ลูกหนี้ที่ 2 จำนองประกันหนี้ คือที่ดินโฉนดที่ 1682, 812 และ 3637 ตำบลบางลำภูล่าง (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน กรุงเทพมหานครที่ดินโฉนดที่ 1589, 1593 และ 3279 ตำบลบางปะกอก(บางประกอกฝั่งเหนือ) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ แต่หนี้อันดับนี้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เพียง 32,899,933.79 บาท จึงพิจารณาให้เท่าที่ขอ
ส่วนหนี้อันดับ 2 คือ หนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 18170/2528 ที่มีมูลมาจากนายชัยสิทธิ ดุลยธรรมภักดีขอกู้เงินเจ้าหนี้โดยมีลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฎว่านายชัยสิทธิ์ ค้างชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงฟ้องบุคคลทั้งสองต่อศาลแพ่งในที่สุดได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบุคคลทั้งสองยอมชำระหนี้ให้ ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นเงิน6,379,023.02 บาท แต่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เพียง 5,747,699.93 บาทจึงพิจารณาให้เท่าที่ขอ
สำหรับมูลหนี้อันดับ 3 สืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ต่อกรมศุลกากร ในการชำระอากรขาเข้าแล้วเจ้าหนี้ต้องชำระหนี้แทนไป ซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 83,516.50 บาท นอกจากนี้เจ้าหนี้ต้องชำระหนี้ภาษีอากรแทนลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 700,000 บาท แก่กรมสรรพากร ตามหนังสือค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีของลูกหนี้ที่ 2ซึ่งลูกหนี้ที่ 2 ต้องรับผิดชำระให้เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 918,265.75 บาท มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ส่วนหนี้อันดับนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระปรากฎว่าเป็นหนี้เงินกู้ที่ลูกหนี้ที่ 2 ขอกู้เงินเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2526 จำนวนเงิน1,500,000 บาท ผ่อนชำระแล้วคงค้าง 907,758 บาท นอกจากนี้ลูกหนี้ที่ 2 ยังได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารเจ้าหนี้สาขาธาตุทอง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2526 ในวงเงิน 1,000,000 บาทแล้วเดินสะพัดทางบัญชีคิดถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ลูกหนี้ที่ 2 คงเป็นหนี้อยู่ 1,534,809.70 บาท วันที่ 10 ตุลาคม 2526 ลูกหนี้ที่ 2ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารเจ้าหนี้สำนักงานใหญ่ วงเงิน1,000,000 บาท วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2527 เพิ่มวงเงินอีก 1,500,000บาท แล้วเดินสะพัดทางบัญชีกับเจ้าหนี้คิดถึงวันที่ 7 กันยายน 2528เป็นหนี้ 3,385,475.45 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 2 กระทำโดยรู้อยู่ว่าลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งนี้เห็นได้จากลูกหนี้ที่ 2 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2903/2523 ตั้งแต่ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2523จนถึงปี พ.ศ. 2526 ที่เจ้าหนี้ให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่ 2 เพิ่มเติมเจ้าหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากลูกหนี้ที่ 2หรือดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมีเงินต้นสูงถึง 13,000,000 บาท(ที่ถูกเป็น 19 ล้านบาทเศษ) การที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 2ก่อภาระเพิ่มขึ้นอีกโดยควรคาดหมายได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระจึงเป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 (2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นสมควรให้ธนาคารทหารไทย จำกัดเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ 1 จำนวน 32,899,933.79 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกัน ให้ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ 2 จำนวน 5,747,699.93 บาท กับหนี้อันดับ 3 เฉพาะหนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อกรมสรรพากร จำนวน 918,265.75 บาทรวม 6,665,965.68 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 และให้ได้รับชำระหนี้ในอันดับ 3 เฉพาะหนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อกรมสรรพากรจำนวน 83,516.50 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยให้เจ้าหนี้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่กล่าวข้างต้นพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นำมาหักชำระหนี้ก่อนยังขาดอยู่อีกเท่าใดให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายชัยสิทธิ์ ดุลยธรรมภักดี แล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้สิทธิในการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอรับชำระหนี้นอกจากนี้ให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีลูกหนี้ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกหนี้ที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินเบิกเงินเกินบัญชี เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต และทรัสท์รีซีท ตลอดจนกู้เงินชั่วคราวจากเจ้าหนี้ซึ่งประกอบกิจการธนาคารโดยมีลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งได้นำที่ดินโฉนดที่กล่าวแล้วแต่ต้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองประกันหนี้ของลูกหนี้ที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้เจ้าหนี้ จึงถูกเจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2ชำระหนี้ตามสัญญา มิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้เจ้าหนี้ในที่สุดศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27มีนาคม 2523 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2903/2523 ให้ลูกหนี้ที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ซึ่งมีเงินต้นถึง 19 ล้านบาทเศษมิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 มาขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จนกระทั่งปี พ.ศ. 2526 ลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่ดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 แต่กลับให้ลูกหนี้ที่ 2 กู้เงินและเบิกเงินเกินบัญชีไปอีกรวม 6,000,000 บาทเศษโดยมีนางจิตรา ดุลยธรรมภักดี เป็นผู้ค้ำประกัน มีปัญหาว่าหนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 2 กระทำขึ้นเมื่อได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้จะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2903/2523 ของศาลแพ่งให้ลูกหนี้ที่ 2ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้แต่ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ชำระก็จะถือว่าลูกหนี้ที่ 2มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะเหตุนี้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะหนี้ดังกล่าวมีที่ดินที่กล่าวแล้วข้างต้นซึ่งไม่ปรากฎว่ามีค่าต่ำกว่าหนี้นั้นจำนองเป็นประกันการชำระหนี้รายนี้อยู่ และเพราะเหตุที่มีทรัพย์จำนองดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ไม่บังคับชำระหนี้จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้รู้อยู่ว่าลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะไม่มีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะยึดมาชำระหนี้ได้ตามคำพิพากษา เมื่อคดีได้ความตามฎีกาของเจ้าหนี้อีกว่า ในการยึดทรัพย์ปรากฎว่าทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2ที่เจ้าหนี้นำยึด เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีประเมินราคาไว้กว่า 60,000,000 บาท ในขณะที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เพียง42,000,000 บาทเศษ เมื่อตามคำแก้ฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ไม่โต้แย้งราคาประเมิน จึงเห็นว่าที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้ที่ 2 กู้เงินและเบิกเงินเกินบัญชีแม้จะยังไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2903/2523 ของศาลแพ่ง ก็เพราะเจ้าหนี้เห็นว่า หลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 ที่เจ้าหนี้ยึดถืออยู่ยังมีมูลค่ามากกว่าหนี้สิน ไม่เช่นนั้นไม่มีเหตุผลที่เจ้าหนี้ซึ่งประกอบอาชีพธนาคารพาณิชย์จะยอมเสี่ยงให้สินเชื่อจำนวนมากเช่นนั้นแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเมื่อตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ปรากฎว่านอกจากลูกหนี้ที่ 2จะเป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ยังทราบว่าลูกหนี้ที่ 2 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีกมากมายไม่มีทางชำระหนี้ได้ การที่สินเชื่อเพิ่มแก่ลูกหนี้ที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีทางจะให้ฟังว่าเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 2 ทำขึ้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้ที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำหนี้นั้นไปขอรับชำระหนี้ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(2)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 9ได้รับชำระหนี้อันดับที่ 3 ในมูลหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเกินบัญชี จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ตามขอ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนางจิตรา ดุลยธรรมภักดี แล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้สิทธิในการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ลดลงเพียงเท่านั้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์