คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3454/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายที่พิพาทให้โจทก์โดยชำระราคาที่ดินกันเรียบร้อยและจะไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายหลัง ซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาจะซื้อขาย ไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อได้ชำระราคากันแล้วก็ย่อมมีผลบังคับได้โดยไม่จำต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ จำเลยที่ 2 ได้รู้เรื่องการจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วก่อนที่จะจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพ่อตาโจทก์ได้เสนอขายที่ดิน1 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1188เลขที่ดิน 244 หมู่ 2 ตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ให้โจทก์ในราคา 11,000 บาท ถ้าโจทก์ซื้อจะชำระเงินเพียง 5,000 บาท อีก 6,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้โจทก์อยู่แล้วโจทก์ตกลงซื้อและได้ชำระเงิน 5,000 บาท ให้จำเลยที่ 1ไป จำเลยที่ 1 นัดว่าให้สิ้นปีใหม่ก่อน จึงจะไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนขายให้โจทก์ ครั้นกลางเดือนมกราคม 2528 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนขายให้โจทก์ จำเลยที่ 1 บอกว่าเงินไม่พอขอผัดอีก 2 เดือน ในระยะนี้จำเลยที่ 2 ได้สอบถามโจทก์เรื่องซื้อที่ดินดังกล่าว โจทก์บอกว่าได้ตกลงซื้อและได้ชำระราคาแล้ว11,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528 โจทก์ทราบข่าวว่าจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียเปรียบและจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าการจดทะเบียนรับซื้อที่ดินทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการกระทำนิติกรรมโดยไม่สุจริต ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. ตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. ตามฟ้องให้โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์จำเลยที่ 1 มีที่ดิน 2 แปลง แปลงที่ 1 เป็นที่ดิน ส.ค.1 แปลงที่ 2เป็นที่พิพาท เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม กับเดือนมิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดิน ส.ค.1 ให้ภรรยาโจทก์ โดยจะผ่อนชำระและได้ทำสัญญากัน จำเลยที่ 1 ได้มอบ ส.ค.1 ให้ภรรยาโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์บอกว่าไม่มีเงิน จึงได้เลิกสัญญา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2528จำเลยที่ 1 ได้ขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 12,000 บาทจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินโจทก์ และการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองกระทำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทขายให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า การซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่น่าจะมีจริง เพราะเป็นการซื้อขายกันเด็ดขาด ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมบังคับกันไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์มีพยานหลายปากเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงขายที่พิพาทให้โจทก์โดยชำระราคาที่ดินกันเรียบร้อย และจะไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์ภายหลังซึ่งเป็นลักษณะของสัญญาจะซื้อขาย ส่วนฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยที่ 1 เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่เคยขายที่พิพาทให้โจทก์ ส่วนพยานอื่นที่สนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ก็เพียงเบิกความว่าไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้โจทก์ ข้อนำสืบของโจทก์มีเหตุผลน่าเชื่อมากกว่าของจำเลยจึงฟังได้ว่าเป็นสัญญาจะซื้อขาย ไม่ใช่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อเป็นสัญญาจะซื้อขายและได้มีการชำระราคากันแล้วก็ย่อมมีผลบังคับได้โดยไม่จำต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาข้อต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 2 ได้ที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่เห็นว่า ตัวโจทก์และพยานโจทก์อีกหลายปากเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ก่อนจะมีการจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 เคยไปสอบถามโจทก์ถึงเรื่องการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2ทราบส่วนฝ่ายจำเลยมิได้มีการซักค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นว่าข้อนำสืบของโจทก์ไม่เป็นความจริง และข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 อ้างเพียงว่าโจทก์นำสืบพยานที่เป็นพวกญาติ จึงไม่น่ารับฟังนั้นเห็นว่าการที่พยานเป็นญาติกันอาจจะมีการเบิกความช่วยเหลือกันจริงแต่ก็มิได้ชี้ให้เห็นว่าพยานเหล่านั้นให้การไม่เป็นความจริงข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ได้รู้เรื่องการจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share