คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมีข้อตกลงว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจากสัญญาให้นำข้อพิพาทขึ้นฟ้องร้องยังศาลแพ่งสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้เงินค่าทดแทนจำนวนเดียวกัน อันเป็นมูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 5 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่ากลางปี พ.ศ. 2524 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างเป็นแนวถนนสายใหม่ ราคาปานกลางที่ทางราชการประเมินไว้ไร่ละ 120,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รวมอยู่ด้วยได้กำหนดค่าทดแทนแก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกา ให้เพียงไร่ละ 40,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทดแทนหรือค่าสินไหมทดแทนจำนวน 500,800 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดปทุมธานี โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องยังศาลแพ่งตามข้อตกลงในสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 260,833.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 375,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ข้อพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาตามเอกสารหมาย ล.23 โจทก์ต้องฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7(4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีนั้นเห็นว่า สัญญาตามเอกสารหมาย ล.23 ทำขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ก็มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ประกอบกับตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการเรียกร้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้เงินค่าทดแทนจำนวนเดียวกัน อันเป็นมูลความแห่งคดีไม่อาจแบ่งแยกได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 5 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.

Share