คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ส. เป็นลูกจ้างของโจทก์มีตำแหน่งเป็นคนการ มีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วมบนขบวนรถไฟสายหนองคาย-กรุงเทพ ตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีหนองคาย ในเวลา19 นาฬิกา ถึงเวลา 23 นาฬิกา หลังจากนั้นจนถึงเวลา 4.30 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลาพักผ่อน ส. จะนอนที่รถทำการพนักงานรักษารถ และเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ 4.30 นาฬิกา จนถึงเวลาที่รถไฟถึงสถานีปลายทาง การที่ ส. ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจึงต้องเดินทางไปกับขบวนรถไฟ การพักผ่อนบนขบวนรถไฟก็เพื่อให้ส.ได้ปฏิบัติงานต่อหลังจากพักผ่อนแล้วจึงเป็นหน้าที่ของส.ที่จะต้องอยู่พักผ่อนในขบวนรถไฟ ฉะนั้น การที่ ส. พลัดตกจากขบวนรถไฟจนถึงแก่ความตายในช่วงเวลาที่พักผ่อนบนรถไฟ จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ตามความหมายของคำว่า “ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2531 เวลาประมาณ 24นาฬิกาอันอยู่ในช่วงเวลาที่นายสม ทองสว่าง ลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งคนการ ฝ่ายการเดินรถ ซึ่งโจทก์จัดให้ไปปฏิบัติหน้าที่ทำความสะอาดในขบวนรถด่วนสายหนองคาย-กรุงเทพ กำลังพักผ่อนอยู่ในรถทำการพนักงานรักษารถ นายสมได้ลุกขึ้นปิดประตูรถเนื่องจากอากาศหนาวแล้วพลัดตกจากขบวนรถไฟได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย ครั้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2532 นางจำเนียร ทองสว่างภริยานายสมผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเรียกเงินทดแทน ต่อพนักงานเงินทดแทน ซึ่งพนักงานเงินทดแทนพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากทำงานให้แก่นายจ้าง ได้มีคำสั่งที่ 265/2532 ลงวันที่ 8ธันวาคม 2532 ให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่นางจำเนียร ทองสว่าง เป็นรายเดือนเดือนละ 2,043 บาท มีกำหนด 5 ปี และจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นเงิน 10,000 บาท ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 โจทก์เห็นว่านายสมผู้ตายปิดประตูรถที่ทำการพนักงานรักษารถซึ่งใช้เป็นที่พักผ่อนไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่การงานของนายสมผู้ตาย ทั้งมิใช่เป็นเวลาทำงาน การที่นายสมผู้ตายกระทำการดังกล่าวแล้วพลัดตกจากขบวนรถไฟถึงแก่ความตาย ไม่ถือว่านายสมผู้ตายประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่อจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2533จำเลยมีคำสั่งที่ 19/2533 ลงวันที่ 24 เมษายน 2533 สั่งยืนโดยให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 คำวินิจฉัยของจำเลยยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผล ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ 19/2533 ลงวันที่ 24 เมษายน 2533 ของจำเลย
จำเลยให้การว่า นายสมผู้ตายเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งคนรถมีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำ ห้องส้วมในขบวนรถไฟ ต้องเดินทางและนอนค้างบนขบวนรถเพื่อประโยชน์แก่การทำงานให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง การที่นายสมผู้ตายลุกขึ้นปิดประตูตู้รถแล้วเกิดอุบัติเหตุพลัดตกจากขบวนรถไฟถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนและค่าทำศพเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า นายสมผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งคนการ มีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถห้องน้ำและห้องส้วมในขบวนรถไฟ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2531 นายสมผู้จะต้องปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟสายหนองคาย-กรุงเทพ ซึ่งออกจากสถานีรถไฟหนองคายเวลา 19 นาฬิกา กำหนดถึงสถานีรถไฟกรุงเทพเวลา 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น นายสมผู้ตายจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีรถไฟหนองคายจนถึงเวลา 23 นาฬิกา หลังจากเวลา 23 นาฬิกา จนถึงเวลา 4.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลาพักผ่อน นายสมผู้ตายจะนอนที่รถทำการพนักงานรักษารถ ไม่มีการทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วมในเวลาพักผ่อน และจะเริ่มปฏิบัติงานต่อตั้งแต่เวลา 4.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นจนถึงเวลารถไฟถึงสถานีรถไฟปลายทาง วันเกิดเหตุนายสมผู้ตายได้ปฏิบัติหน้าที่จนถึงเวลา 23 นาฬิกา จึงพักผ่อนโดยนอนที่รถทำการพนักงานรักษารถครั้นเวลาประมาณ 0.15 นาฬิกา ของวันที่ 24 ธันวาคม 2531 นายสมผู้ตายได้ลุกขึ้นมาปิดประตูรถทำการพนักงานรักษารถเนื่องจากอากาศหนาวประตูดังกล่าวเปิดแง้มไว้เล็กน้อยเพียงระบายอากาศ เนื่องจากประตูฝืดการเปิดปิดต้องดันอย่างแรง นายสมผู้ตายได้ขยับดันประตูออกเพื่อจะปิดอีกจังหวะหนึ่ง แต่เมื่อผลัดดันประตูเปิดออกปรากฏว่าเกิดเสียจังหวะ มือหลุดจากสลักประตู นายสมผู้ตายพลัดตกลงไปได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา แล้วโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาพักผ่อนของนายสมผุ้ตายเพื่อเตรียมปฏิบัติงานตามเวลา โจทก์มิได้มอบหมายงานสิ่งใดให้ปฏิบัติ การที่นายสมผู้ตายพลัดตกจากขบวนรถไฟจนถึงแก่ความตาย ไม่ใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมผู้ตายมีตำแหน่งเป็นคนการ มีหน้าที่ทำความสะอาดพื้นรถ ห้องน้ำและห้องส้วมในขบวนรถไฟ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2531นายสมผู้ตายจะต้องปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟสายหนองคาย-กรุงเทพตั้งแต่รถไฟออกจากสถานีรถไฟหนองคายในเวลา 19 นาฬิกา จนถึงเวลา23 นาฬิกา หลังจากนั้นจนถึงเวลา 4.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นเป็นเวลาพักผ่อน นายสมผู้ตายจะนอนที่รถทำการพนักงานรักษารถ แล้วเริ่มปฏิบัติงานต่อตั้งแต่เวลา 4.30 นาฬิกา จนถึงเวลาที่รถไฟถึงสถานีรถไฟปลายทาง ศาลฎีกาเห็นว่า แม้หน้าที่ที่นายสมผู้ตายจะต้องปฏิบัติในขบวนรถไฟจะเป็นการทำความสะอาดพื้นรถห้องน้ำและห้องส้วม แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นายสมผู้ตายจะต้องเดินทางไปกับขบวนรถไฟด้วยการที่ให้นายสมผู้ตายพักผ่อนหลังจากทำงานตั้งแต่เวลา 23 นาฬิกาของวันที่ 23 ธันวาคม 2531 ถึงเวลา 4.30 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นก็เพื่อให้นายสมผู้ตายได้มีเวลาพักผ่อนหลับนอนแล้วจะได้เริ่มปฏิบัติงานต่อหลังจากที่ได้พักผ่อนแล้วจนถึงเวลาที่รถไฟถึงสมาชิกรถไฟปลายทาง ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายสมผู้ตายที่จะต้องอยู่พักผ่อนในขบวนรถไฟเพื่อเริ่มปฏิบัติงานต่อไป ดังนั้นการที่นายสมผู้ตายหลัดตกจากขบวนรถไฟจนถึงแก่ความตายในช่วงเวลาที่นายสมผู้ตายพักผ่อนหลังจากที่ได้ทำงานมาแล้ว จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามความหมายของคำว่า “ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share