คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้กับลูกหนี้มีข้อสัญญาว่า เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้ใช้ กฎหมายของประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาบังคับแก่กรณีและดำเนินกระบวนพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการในประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ปรากฏว่ามีข้อผิดพลาด ไม่ถูกต้องตาม ขั้นตอนขัดต่อ กฎหมายหรือขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศ สาธารณรัฐสิงคโปร์ จึงผูกพันลูกหนี้เจ้าหนี้นำมาฟ้องบังคับในศาลไทยได้โดย ไม่จำต้องให้ศาลไทยกลับไปวินิจฉัยอีกว่าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าหนี้จึงอาศัยคำชี้ขาดทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองได้ .

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 2เด็ดขาด เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2525 บริษัทแค็ปเปิลชิพยาร์ด จำกัดเจ้าหนี้รายที่ 8 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นเงิน32,222,331.34 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1,ที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า น่าเชื่อว่ามีลูกหนี้ต่อกันจริงมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ขาดอายุความ และไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงิน 14,270,285.22 บาทและจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน 7,560,526.03 บาทตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ลูกหนี้ (จำเลย(ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มาโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตั้งขึ้นในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่าคำชี้ขาดดังกล่าวใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่าตามข้อสัญญาในเอกสารหมายจ.17 ข้อ 16, 17 และ จ.18 ข้อ 14, 15 กำหนดว่าเมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้ใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาบังคับแก่กรณี และดำเนินกระบวนพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ฉะนั้นเมื่อมีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้และเจ้าหนี้ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงของคู่สัญญา คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมผูกพันคู่สัญญาคือเจ้าหนี้และลูกหนี้ ข้ออ้างที่ว่าลูกหนี้ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับการตั้งอนุญาโตตุลาการก็ดี สัญญาเลิกกันแล้วข้อสัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมเลิกไปด้วยนั้น เห็นว่าลูกหนี้ที่ 2 ยอมรับในคำให้การชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเมื่อมีการตั้งอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์แล้ว ลุกหนี้ที่ 2 ก็ยอมรับรวมทั้งลูกหนี้ที่ 1 ก็ต้องยอมรับด้วยแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ทั้งสองไม่โต้แย้งคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการ ส่วนที่ลูกหนี้ทั้งสองยกขึ้นอ้างด้วยว่าเมื่อมีการนัดพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการแล้ว มีการเลื่อนการพิจารณาไม่ได้แจ้งให้ลูกหนี้ทั้งสองทราบนั้น เจ้าหนี้นำสืบว่ากฎหมายแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่ได้บัญยัติให้ต้องทำเช่นนั้น โดยมีคำเบิกความของนายมูทะทัมบายคาร์ธิเกสุ อนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดมาเบิกความเป็นพยานศาลในคดีที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 13638, 13639/2523 ว่าในการนัดพิจารณาคดีได้แจ้งให้ลูกหนี้ทั้งสองทราบแล้ว ส่วนการเลื่อนการพิจารณาไปนั้น การพิจารณาคดีของอนุญาโตตุลาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาของศาล ซึ่งกฎหมายไม่มีบัญญัติว่าการเลื่อนไปต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบทั้งในการพิจารณาคดีลูกหนี้ทั้งสองก็มิได้เข้าสู้คดี นายมูทะทัมบายคาร์ธิเกสุ จึงชี้ขาดไป คำชี้ขาดถึงที่สุด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดพลาดแจ้งชัดในคำชี้ขาด จึงจะขอให้ศาลสูงเพิกถอนคำชี้ขาดได้ฉะนั้นเมื่ออนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหนี้ลูกหนี้โดยไม่ปรากฏว่ามีความผิดพลาด คำชี้ขาดย่อมผูกพันลูกหนี้ทั้งสองทั้งไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงผูกพันลูกหนี้ และเจ้าหนี้นำมาฟ้องให้บังคับในศาลไทยได้ ทั้งนี้โดยไม่จำต้องให้ศาลไทยกลับไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงอีกว่า ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฉะนั้นเมื่อมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ลูกหนี้ทั้งสองรับผิด ลูกหนี้ทั้งสองจึงต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้น…”
พิพากษายืน.

Share