แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีพิพาทเรื่องที่ดิน เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันว่าหากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแล้ว ปรากฏว่าฝ่ายใดรุกล้ำก็ให้คืนที่ดินพิพาทให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีเจตนาจะครอบครองที่ดินอย่างเป็นเจ้าของเฉพาะที่เป็นส่วนของผู้ร้องเท่านั้น หากเป็นของบุคคลอื่นผู้ร้องก็ไม่มีเจตนาจะครอบครองและยึดถือเป็นของตน ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วผู้ร้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2 เลขที่ดิน 29 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายเนื้อที่ 1 งาน 18 ตารางวา พร้อมอาคารไม้ 2 ห้อง โดยซื้อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2508 ที่ดินของผู้ร้องด้านทิศใต้อยู่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 3 เลขที่ดิน 10 ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินและอาคารที่ซื้อมาตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 29 พฤศจิกายน 2514 ผู้ร้องจึงได้ปลูกอาคารตึกแถวเลขที่ 124 สูงสามชั้นจำนวน 2 ห้อง แทนอาคารไม้หลังเดิมซึ่งอาคารส่วนหนึ่งทางทิศใต้อยู่ในที่ดินโฉนดที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 9.6 ตารางเมตร โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของผู้ร้องจึงได้ครอบครองด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา19 ปีเศษแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ผู้ร้องได้ครอบครองในที่ดินโฉนดที่ 3 เนื้อที่ประมาณ9.6 ตารางเมตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382และให้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายให้ทำนิติกรรมแก้ทะเบียนผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 3 เป็นของผู้ร้องเฉพาะส่วนที่ผู้ร้องครอบครองด้วย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินโฉนดที่ 3 ของผู้คัดค้านเนื้อที่ 9.6 ตารางเมตรด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นให้เรียกผู้ร้องว่าโจทก์เรียกผู้คัดค้านว่าจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามแนวกำแพงอาคารของโจทก์ด้านที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยหากแนวกำแพงดังกล่าวอยู่บนที่ดินของจำเลยคือที่ดินโฉนดที่ 3เลขที่ดิน 10 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพียงใดให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงรายทำนิติกรรมแก้ไขทะเบียนผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดทั้งสองฉบับดังกล่าวตามแนวกำแพงอาคารของโจทก์ในกรณีที่จำนวนเนื้อที่ดินเปลี่ยนแปลงไปจากโฉนดเดิม ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่ดินของผู้ร้องและของผู้คัดค้านอยู่ติดกัน ที่พิพาทมีเนื้อที่ 9.6ตารางเมตร อยู่ในเขตที่ดินของผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านมีว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านว่า ในวันที่เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่พิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ตกลงกันว่าในขณะนั้นยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดรุกล้ำของฝ่ายใด หากเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแล้วปรากฏว่าฝ่ายใดรุกล้ำก็ให้คืนที่ดินให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายถาวร กาญจนประดิษฐ์ พยานผู้คัดค้านว่า ในระหว่างที่เจ้าพนักงานที่ดินกำลังทำบันทึกการรังวัดและการระวังแนวเขตผู้ร้องได้พูดว่ายังไม่ทราบว่าที่ดินของใครรุกล้ำฝ่ายไหนต่อเมื่อทราบความจริงแล้วก็จะคืนให้แก่ฝ่ายถูกรุกล้ำ พยานในฐานะตัวแทนผู้คัดค้านได้ตกลงจากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงเจตนาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีเจตนาจะครอบครองที่ดินเฉพาะที่เป็นของผู้ร้องจริง ๆ เท่านั้นที่ผู้ร้องเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของแต่หากเป็นของบุคคลอื่นผู้ร้องไม่มีเจตนาที่จะครอบครองและยึดถือเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่มีเจตนาที่จะครอบครองและยึดถือที่ดินของผู้คัดค้านเป็นของผู้ร้อง แม้ผู้ร้องจะครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ผู้ร้องก็ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้คัดค้าน”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง