คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2327/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ทำสัญญาจ้างรวม 4 ครั้งจ้างกันเป็นช่วง ๆ นั้น เมื่อบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 6 เรื่องจ้างแรงงาน หรือประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้มีบทบัญญัติห้ามไว้ชัดแจ้งว่าจะทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมิได้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนกฎหมายจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาในสัญญา ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการโรงพยาบาลคามิลเลียน ซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีอำนาจบริหารกิจการดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อผ่านการทดลองงานแล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2525 ระบุระยะเวลาการจ้าง 1 ปี ครบกำหนดสัญญาจ้างแล้วจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานต่อไป โดยทำสัญญากันใหม่ติดต่อกันทุกปีการจ้างเช่นนี้เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ถือว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลาการจ้างโจทก์มีตำแหน่งหน้าที่ครั้งสุดท้ายเป็นหัวหน้าพยาบาล และหัวหน้าฝ่ายบุคคล ได้รับเงินเดือน 10,102 บาท จำเลยตกลงจะขึ้นเงินเดือนให้โจทก์อย่างน้อยปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ และสิ้นปีโจทก์จะได้รับโบนัสเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2530จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าต้องการจะเปลี่ยนสัญญาจ้างใหม่โดยลดตำแหน่งและเงินเดือนของโจทก์ ถ้าหากโจทก์ไม่ตกลงตามสัญญาใหม่ให้ถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโจทก์ไม่ยกมตกลงตามสัญญาใหม่ จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2530 โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,612 บาท โบนัสจำนวน 10,102 บาทค่าเสียหายจำนวน 128,496 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2525 โดยให้โจทก์ทดลองงานก่อน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2525 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์โดยกำหนดระยะเวลาการจ้างมีกำหนด 1 ปี เมื่อสิ้นสุดสัญญาฉบับแรกแล้วมีการทำสัญญาจ้างต่อกันมาอีกครั้งละ 1 ปี รวม 4 ครั้ง สัญญาแต่ละฉบับระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไว้แน่นอน ครั้งสุดท้ายสัญญาสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2530 จึงถือว่าสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ก่อนสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลง จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1มีพนักงานเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของโจทก์ขอให้โจทก์พิจารณาเพื่อทำสัญญาจ้างต่อ และเมื่อครบกำหนดสัญญาฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2530 โจทก์ก็ไม่มาทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายสมดังเจตนาของคู่กรณีไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จำเลยที่ 2กระทำในฐานะผู้จัดการหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อไม่มีการต่อสัญญาจ้างกันอีกจึงถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเป็นการเลิกจ้างโดยผลของสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และหากจะฟังว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 30เมษายน 2530 จนถึงปัจจุบันก็เป็นการละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโบนัส หรือเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่ และสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในโรงพยาบาลคามิลเลียน โดยทำสัญญาจ้างรวม 4 ครั้ง การทำสัญญาจ้างครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 นั้น ระยะเวลาการจ้างไม่ติดต่อกัน การทำสัญญาจ้างครั้งที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้นระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดติดต่อกัน สัญญาฉบับสุดท้ายสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2530 สัญญาทุกฉบับกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิพักร้อนได้ สัญญาจ้างฉบับที่ 3 และที่ 4 กำหนดเงื่อนไขในการขึ้นเงินเดือนปีละอย่างน้อย 6 เปอร์เซ็นต์ และสิ้นปีจะได้รับโบนัสเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาจ้างทั้ง 4 ฉบับนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติต่อกันจนหมดข้อผูกพันกันตามข้อตกลงในสัญญาไปแล้ว อันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกันทั้งสองฝ่าย สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในหลลักเรื่องการแสดงเจตนาทำนิติกรรมตามหลักของนิติกรรม ส่วนการทำสัญญาจ้างกันเป็นช่วง ๆ นั้นจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่มิได้กล่าวอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องใดบทใด ทั้งบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 6 เรื่อง จ้างแรงงานประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาต่อกัน ก็มิได้มีบทบัญญัติหรือข้อห้ามไว้ให้เป็นการชัดแจ้งว่าจะทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมิได้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่สัญญาที่ทำขึ้นเพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายตามที่โจทก์อุทธรณ์
ส่วนสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างหรือไม่นั้น เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว และสัญญาทุกฉบับที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำต่อกันมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดเป็นการแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาฉบับสุดท้ายเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 7 ระบุว่า”ระยะเวลาการจ้างแรงงานตามสัญญาฉบับนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1พฤษภาคม 2529 สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2530″ ทำสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาดังที่โจทก์อุทธรณ์สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาจ้างเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ลาพักร้อนการขึ้นเงินเดือน หรือการจ่ายโบนัสก็ดีนั้น เป็นเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามสัญญาจ้างแรงงานว่าจะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไรในระหว่างที่มีสัญญาจ้างกันอยู่เท่านั้น จะนำเอาเงื่อนไขดังกล่าวมาตีความเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าเริ่มต้นวันใด สิ้นสุดวันใด เพื่อให้เห็นเป็นประการอื่นนั้นย่อมไม่ได้เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทั้งมิต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้าย ที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่มีการเลิกจ้าง และเมื่อสัญญาจ้างเลิกกันแล้ว สิทธิที่จะได้รับโบนัสต่อไปตามสัญญาของโจทก์จึงหมดไปด้วย ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share