คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2307/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฉ. ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ แต่คำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ คงมีจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธไว้เพียงว่า ฉ. จะมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์หรือไม่อย่างไร จำเลยที่ 2ไม่ทราบและไม่รับรอง คำให้การดังกล่าวมิได้แสดงโดยแจ้งชัดว่าปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ข้อใดและมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธดังนี้ คดีไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง สัญญาก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 360 วัน โจทก์ได้ต่ออายุสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 120 วัน ครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่เสร็จ จำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ต่อมาโจทก์ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำการก่อสร้างให้เสร็จได้ภายในกำหนดสัญญาทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็ได้ต่ออายุสัญญาให้ครั้งหนึ่งแล้วจำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จ้าง จ. ก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านเตาไท และโรงเรียนบ้านนารายณ์ เพิ่มเติมต่อจากที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างค้างไว้ กับก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านดอนจันทร์ รวมเป็นเงิน1,350,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่เหลือตามสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 พอดี โจทก์ดำเนินการก่อสร้างโดยชอบด้วยระเบียบของทางราชการจึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยที่ 1ผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าก่อสร้างส่วนนี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดฐานผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้ใช้เงินจำนวน 1,203,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 135,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ก่อสร้างโรงเรียนต่าง ๆ ไม่แล้วเสร็จเพราะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์กลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 บอกกล่าวขอเลิกสัญญาแล้วซึ่งโจทก์ก็ยอมรับ จึงไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะนำมาฟ้องได้ จำเลยที่ 1สามารถสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จในราคาค่าจ้างตามสัญญาเดิมได้ที่โจทก์นำเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือไปว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหม่ในราคาที่สูงเกินความจริง โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 1รับผิดชอบไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างโรงเรียนบ้านนารายณ์แล้วเสร็จไปบางส่วน ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์ได้ตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 160,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดมธานี แต่ไม่ได้ทำไว้กับโจทก์ และนายเฉลิม บุญธรรมเจริญ ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและเป็นผู้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการจ่ายเงินตามภาระค้ำประกัน อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างตามสัญญาเสร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดก็ไม่เกินกึ่งหนึ่งของวงเงินที่ค้ำประกัน และเมื่อครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีได้ต่ออายุสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ออกไปอีกโดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นความรับผิด
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างหรือค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน535,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 135,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย สำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์592,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประเด็นในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คงเหลือเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ เรื่องโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเป็นการชอบหรือไม่ และเรื่องค่าเสียหายตามฟ้องกับค่าจ้างตามฟ้องแจ้งของจำเลยที่ 1 มีเพียงใด ในประเด็นแรกเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายเฉลิม บุญธรรมเจริญ ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์แต่จากคำให้การของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้แต่อย่างใด คงมีแต่จำเลยที่ 2ให้การปฏิเสธไว้เพียงว่า “…นายเฉลิม บุญธรรมเจริญ จะมีอำนาจฟ้องแทนโจทก์หรือไม่อย่างไร โจทก์ (ที่ถูกจำเลยที่ 2) ไม่ทราบและไม่รับรอง…” ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การดังกล่าวมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ในข้อใด และมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น เป็นคำให้การที่มิได้ตั้งเป็นประเด็นในเรื่องนี้ไว้ จึงไม่ชอบที่จะได้รับการวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ในประเด็นเรื่องโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเป็นการชอบหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าในการจ้างเหมาปรากฏรายละเอียดตามสัญญาเอกสารหมายจ.1 มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และต่อมาโจทก์ได้ต่ออายุสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 120 วัน แต่เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จไปได้เพียง 5 โรง โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2523 บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1ปรากฏตามเอกสารหมาย ป.จ.24 และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2523 บอกเลิกสัญญากับโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7 เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำการก่อสร้างให้เสร็จได้ภายในกำหนดสัญญาทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็ได้ต่ออายุสัญญาให้ครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างข้อ 2 โดยชัดแจ้งโจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ส่วนที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญากับโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7นั้น จำเลยที่ 1 อ้างเหตุผลเพียงว่า ในงานก่อสร้างมีอุปสรรคนานาประการ ไม่สามารถจะดำเนินงานก่อสร้างส่วนที่เหลือต่อไปอีก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาอย่างใด ที่จำเลยที่ 1ฟ้องแย้งและนำสืบทำนองว่า จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างไม่เสร็จเพราะคณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์กลั่นแกล้งนั้น เป็นเพียงการกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานยืนยันให้เห็นเป็นจริงจังได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริง จำเลยที่ 1 ก็น่าจะได้อ้างอิงไว้ในเอกสารหมายล.7 แล้ว แต่ก็หามีเช่นนั้นไม่ พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักที่จะฟังได้ว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องผิดสัญญาเนื่องจากการกระทำของฝ่ายโจทก์และไม่ปรากฏด้วยว่าฝ่ายโจทก์ผิดสัญญาอย่างใด ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงหามีสิทธิบอกเลิกสัญญากับโจทก์ไม่ อีกนัยหนึ่งการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ
สำหรับในประเด็นเรื่องค่าเสียหายตามฟ้องกับค่าจ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 มีเพียงใดนั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่โจทก์จ้างนายเจษฎา เผ่าพงษ์ไพบูลย์ ก่อสร้างโรงเรียนต่อไปโดยวิธีจ้างพิเศษนั้น เป็นการไม่ชอบ ทั้งมีการเพิ่มเติมห้องเรียน และครุภัณฑ์และเป็นการจ้างในราคาสูง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ว่าจ้างนายเจษฎาก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านเตาไหและโรงเรียนบ้านนารายณ์เพิ่มเติมต่อจากที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างค้างไว้ โดยคิดค่าจ้าง 452,050 บาท และ 296,050 บาท ตามลำดับกับก่อสร้างอาคารโรงเรียนบ้านดอนจันทร์เป็นเงิน 601,900 บาท รวมเป็นเงิน 1,350,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำเลยเงินที่เหลืออยู่ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 พอดี เห็นว่าโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างชอบด้วยระเบียบของทางราชการแล้ว และไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จึงนับว่าเป็นค่าเสียหายโดยตรงส่วนหนึ่ง ที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ดังนั้นจำเลยที่ 1จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าก่อสร้าง โรงเรียนบ้านนารายณ์ส่วนหนึ่งตามฟ้องแย้ง เนื่องจากเกลื่อนกลืนไปกับจำนวนค่าเสียหายส่วนหนึ่งของโจทก์ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังเสียหายในการที่ไม่ได้สร้างโรงเรียนบ้านทอน และหอประชุมโรงเรียนเพ็ญประชานุกูล ซึ่งโจทก์นำสืบว่า หากก่อสร้างต้องใช้เงินก่อสร้างหลังละ 601,900 บาทรวมเป็นเงิน 1,203,800 บาท ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยตระหนักถึงค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์แล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยคิดคำนวณเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้โดยละเอียดกำหนดให้จำเลยที่ 1ใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 592,500 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share