แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และคำสั่งของนายจ้างนั้นต้อง อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานด้วย ดังนี้ เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 47(3) กำหนดว่า นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วย กฎหมายของนายจ้างโดย ไม่จ่ายค่าชดเชยต่อ เมื่อการฝ่าฝืนของลูกจ้างเป็นความผิดกรณีร้ายแรง ถ้า ไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรงลูกจ้างก็ต้อง เคยถูก ตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนแล้ว และกระทำความผิดซ้ำ คำเตือน ฉะนั้นแม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่ง เป็นนายจ้างกำหนดว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างที่ทำผิดระเบียบข้อบังคับโดย ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม แต่ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้กระทำผิดร้ายแรง และมิได้กระทำผิดซ้ำ คำเตือนอีก เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้อง จ่ายค่าชดเชย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 153 บาท จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอีก 100,000 บาท ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างในอัตราวันละ 153 บาท นับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 32,730 บาท กับค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก 100,000 บาทแทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยเจตนากระทำผิดอาญาต่อจำเลย กล่าวคือโจทก์กับบุคคลอื่นได้ร่วมกันเปิดจดหมายปิดผนึกซึ่งสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการมีถึงกรรมการบริษัทจำเลยแล้วนำไปอ่านและนำออกเปิดเผยด้วยการนำไปปิดประกาศที่บอร์ดปิดประกาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย อีกประการหนึ่งจำเลยได้มีคำสั่งห้ามมิให้พนักงานนำเอกสารใด ๆ ปิดประกาศที่บอร์ดปิดประกาศของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของโจทก์เป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้จำเลยไม่เชื่อถือและไม่ไว้วางใจอีกต่อไป จึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้นำความเท็จไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ แต่ในที่สุดคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้วินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำความผิด จำเลยได้กำหนดจ่ายค่าจ้างโจทก์ 15 วันต่อครั้ง หากจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่เกิน 15 วัน เป็นเงิน 2,295 บาทเท่านั้นหลังจากที่ถูกเลิกจ้าง โจทก์ได้ประกอบอาชีพค้าขาย โจทก์จึงไม่เสียหาย หากจะเสียหายก็ไม่เกิน 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความยอมรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยได้จ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละสองครั้ง คือในวันที่ 15 และในวันสุดท้ายของเดือน โดยจ่ายให้ครั้งละ 2,295 บาท
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จำนวน27,540 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อน จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าโจทก์ได้ร่วมกระทำผิดกับนายสมนึก คล้ายสี ทำการเปิดจดหมายที่ปิดผนึกของจำเลย มีความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 322, 83 เป็นการกระทำความอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง พิเคราะห์แล้วคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้ร่วมกับนายสมนึกเปิดผนึกจดหมายของจำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 4ได้ระบุเรื่องค่าชดเชยไว้ชัดว่า บริษัทจำเลยจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้ถ้าลูกจ้างกระทำผิดตามข้อ 9.8 คือทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของบริษัท เมื่อโจทก์กระทำผิดตามข้อ 9.8 จำเลยก็มีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยแม้ไม่ใช่กรณีร้ายแรงจำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 9.8 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยต่อเมื่อการฝ่าฝืนของลูกจ้างเป็นความผิดกรณีร้ายแรง ถ้าไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรงลูกจ้างก็ต้องเคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนแล้วและกระทำความผิดซ้ำคำเตือน แม้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 9.8 ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นความผิดกรณีร้ายแรง แต่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) คือ การกระทำผิดระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยจะต้องเป็นกรณีร้ายแรงจำเลยจึงจะเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เพียงแต่นำสำเนาจดหมายไปปิดประกาศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยเป็นความผิดกรณีไม่ร้ายแรงจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงมีสิทธิขอกลับเข้าทำงานหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีคำสั่งห้ามพนักงานทุกคนนำเอกสารไปปิดประกาศที่บอร์ดของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาตและพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าเอกสารหมาย จ.1 ที่นายสมนึกนำมาให้โจทก์นำไปปิดนั้น โจทก์น่าจะทราบว่าจดหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยโดยถูกต้องมาก่อน จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย การปฏิบัติงานของโจทก์แสดงว่าจะไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่เป็นที่น่าไว้วางใจอีกต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุผลไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับเอกสารหมาย จ.1 จากนายสมนึกไปปิดประกาศโดยสุจริตใจซึ่งเชื่อว่าได้ผ่านการอนุญาตแล้วโจทก์ไม่ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.