คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2063/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องกับบิดาเดินทางไปประเทศ จีน ขณะที่ผู้ร้องอายุเพียง3 ขวบ เมื่อไปถึง ประเทศ จีน ได้ 2 เดือน บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมผู้ร้องจึงอยู่กับย่า คนเดียวในประเทศ จีน ผู้ร้องไม่น่าจะจำได้ ว่ามีญาติพี่น้องชื่อ อะไรที่อยู่ในประเทศ ไทย ทั้งวันเดือน ปีเกิดและสถานที่เกิดในหนังสือเดินทางของผู้ร้องไม่ตรง กับสูติบัตรและทะเบียนบ้าน ในประเทศ ไทย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศ ไทย .

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทย เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2487 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่ออายุประมาณ3 ขวบ ได้ติดตามบิดาเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีน แต่เมื่อไปอยู่ได้ 2 เดือน บิดาถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงต้องอยู่กับย่าตลอดมาจนย่าถึงแก่กรรม ผู้ร้องได้ติดต่อกับญาติในประเทศไทย และเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เพื่อขอพิสูจน์สัญชาติแต่อธิบดีกรมตำรวจสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทย มิได้เกิดในประเทศไทย เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติจีน สัญชาติจีน เกิดเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2487 ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซื้อหนังสือเดินทางประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไรผู้ร้องได้อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลาติดต่อกันถึง 34 ปี ผู้ร้องย่อมมีความฝักใฝ่ในสัญชาติจีน ซึ่งจะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 17ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าผู้ร้องเป็นบุคคลมีสัญชาติไทยหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า เมื่อผู้ร้องอายุ 3 ปี ได้เดินทางไปประเทศจีนกับบิดา อยู่ได้ประมาณ2 เดือน บิดาก็ถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงอาศัยอยู่กับย่าตลอดมาย่าถึงแก่กรรมเมื่อประมาณ 8-9 ปีมาแล้ว และเมื่อประมาณ 5 ปีมานี้นายพิพัฒน์ หรือโกเส่ง ยินดีคุณานันท์หรือแซ่โค้ว คนไทยเดินทางไปประเทศจีน ผู้ร้องได้คุยกับนายพิพัฒน์ว่า ผู้ร้องอยากกลับประเทศไทยเพราะมีญาติอยู่ที่ประเทศไทยมาก นายพิพัฒน์หรือโกเส่งยินดีคุณานันท์หรือแซ่โค้ว พยานผู้ร้องซึ่งมีอายุ 55 ปี เบิกความว่าพยานเกิดที่ประเทศจีน เข้ามาประเทศไทยเมื่ออายุ 6 ปี และกลับไปประเทศจีนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2523 นางเล็กอาหญิงของผู้ร้องให้พยานช่วยสืบหาผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องทราบว่าพยานไปจากประเทศไทยจึงมาเยี่ยมระบุชื่อญาติพี่น้องในประเทศไทยตรงกับที่พยานรู้จักนางเล็ก แซ่เล้า พยานผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นอาสะใภ้ของผู้ร้องเบิกความว่า ได้ขอให้นายพิพัฒน์ซึ่งไปเที่ยวประเทศจีนช่วยสืบหาผู้ร้อง นายยงยุทธ อัญนพวงค์ พยานผู้ร้องอีกปากซึ่งอ้างว่าเป็นน้องชายผู้ร้องเบิกความว่า ก่อนผู้ร้องจะกลับประเทศไทย 10 ปีเศษพยานติดต่อผู้ร้องทางจดหมายโดยผ่านนายพิพัฒน์ ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ร้องกับบิดาออกจากประเทศไทยเมื่ออายุน้อยเพียง 3 ปี เมื่อไปถึงได้ 2 เดือน บิดาผู้ร้องก็ถึงแก่กรรม น่าจะจำไม่ได้ว่ามีญาติพี่น้องชื่ออะไรบ้างที่อยู่ในประเทศไทย ย่าผู้ร้องก็อยู่คนเดียวในประเทศจีน ไม่มีญาติและไม่รู้หนังสือ จึงไม่น่าเชื่อว่านายยงยุทธจะติดต่อกับผู้ร้องได้ทางจดหมายโดยผ่านนายพิพัฒน์ ทั้งนายพิพัฒน์เพิ่งไปประเทศจีนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2523 นี่เอง แสดงว่าก่อนนั้นนางเล็กหรือนายยงยุทธไม่เคยติดต่อกับผู้ร้องเลย นอกจากนี้หนังสือเดินทาง ชื่อผู้ร้อง วันเดือนปีเกิดและสถานที่เกิดก็ไม่ตรงกับใบสูติบัตรและทะเบียนบ้านในประเทศไทย พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share