คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้ รับโอนเช็ค มา จากจำเลยที่ 2 เมื่อกลางเดือนมิถุนายน2527 เช็ค พิพาทสั่งจ่ายวันที่ 14 มิถุนายน 2527 ในขณะที่โจทก์รับโอนเช็ค พิพาทจึงเป็นระยะเวลาที่เช็ค พิพาทถึง กำหนดสั่งจ่ายหรือใกล้ถึง วันสั่งจ่าย จำเลยที่ 2 น่าจะนำเช็ค พิพาทไปเรียก เก็บเงินได้ อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะต้อง นำมาโอนขายให้กับโจทก์ ทั้งในขณะที่โจทก์รับโอนเช็ค พิพาท โจทก์ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายได้ มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตาม เช็ค แล้ว การโอนเช็ค พิพาทจึงมีขึ้นด้วย คบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกข้อต่อสู้ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ขึ้นต่อสู้ โจทก์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตาม เช็ค พิพาทต่อ โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาวารินชำราบ เลขที่ 0057401 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2527 จำนวนเงิน12,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลัง ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2527 โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 12,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 12,000 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2เพื่อค้ำประกันค่าจ้างที่จำเลยที่ 2 จะทำการก่อสร้างรั้วให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ก่อสร้างให้ จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงิน โจทก์รับเช็คพิพาทด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 12,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มิถุนายน2527 อันเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนเช็คพิพาทให้โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่ เห็นว่า ข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดจากโจทก์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 นั้น นอกจากจะเป็นคำเบิกความของโจทก์ปากเดียวลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนแล้ว คำเบิกความของโจทก์ที่ว่า ได้รับเช็คพิพาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2527 นั้นก็ยังขัดกับคำเบิกความของโจทก์เองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2535/2527 ของศาลแขวงอุบลราชธานี ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเช็คพิพาทตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ อีกด้วย โดยโจทก์เบิกความคดีดังกล่าวตอบทนายจำเลยซักค้านว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2527 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ปัญหาที่ว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 หรือว่ารับมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน2527 นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าน่าเชื่อว่ารับมาเมื่อเดือนพฤษภาคม2527 ส่วนที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยซักค้านในคดีอาญาว่า ได้รับมาเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2527 น่าจะเป็นการเบิกความผิดพลาดไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าหากโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2527 ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเหตุใดโจทก์จึงไม่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 18 มิถุนายน 2527 อันเป็นวันที่เช็คพิพาทถึงกำหนดสั่งจ่าย ทั้งปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพให้กู้เงิน การนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินหลังวันสั่งจ่ายเป็นเวลานานเช่นนี้ย่อมทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากเงินดอกเบี้ย ฉะนั้นการที่โจทก์เพิ่งนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2527โดยไม่ปรากฏเหตุผลแห่งความล่าช้า เช่นนี้ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าโจทก์เพิ่งได้รับเช็คพิพาทมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2527 ดังที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยซักค้านในคดีอาญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2527 เช่นนี้แล้ว ข้อที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยการให้จำเลยที่ 2 แลกเงินสดจึงไม่น่าเชื่อ เพราะเช็คพิพาทสั่งจ่ายวันที่ 14 มิถุนายน 2527 ก็คือช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2527 นั่นเอง ดังนั้น ในขณะที่โจทก์รับเช็คพิพาทมาจึงเป็นระยะเวลาที่เช็คพิพาทถึงกำหนดวันสั่งจ่ายหรืออย่างน้อยก็ใกล้ถึงวันสั่งจ่ายแล้ว จำเลยที่ 2 น่าจะนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินเองได้ ไม่มีความจำเป็นต้องนำมาแลกเงินสดกับโจทก์ การที่โจทก์รับเช็คพิพาทไว้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเช็คพิพาทมาเรียกเก็บเงิน โจทก์ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทเพราะเหตุจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาสร้างรั้วต่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีนายอัมพร สุจิรังกุล พนักงานบัญชีของธนาคารตามเช็คมาเบิกความว่าเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2527 โจทก์ได้ไปพบพยานที่ธนาคารเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเช็คพิพาท ซึ่งพยานก็ได้บอกโจทก์แล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2527 ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับเช็คพิพาทมาโดยแลกเงินสดจากจำเลยที่ 2 แต่ฟังได้ว่าการโอนเช็คพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เป็นการมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ขึ้นต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา916 ประกอบมาตรา 989 และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผูกพันต้องชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2ไม่ได้ทำการก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share