คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2ทำละเมิดตาม ทางการที่จ้างต่อ โจทก์นั้น มิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างลูกจ้างอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลแรงงานกลาง ดังนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2512 ตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 3,440 บาท จำเลยที่ 1 เป็นแพทย์ประจำและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจรักษาและจ่ายยาให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 โจทก์มีอาการเคืองตาจึงไปให้จำเลยที่ 1 ตรวจรักษา จำเลยที่ 1 ตรวจตาของโจทก์แล้วจ่ายยาให้โจทก์ เมื่อโจทก์รับประทานยาเม็ดของจำเลยที่ 1 ก็มีอาการคันผื่นขึ้นตามตัว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529โจทก์เข้ารักษาที่โรงพยาบาลโพลีคลีนิค สะพานใหม่ ดอนเมืองแพทย์ตรวจยาที่โจทก์รับประทานและขูดลิ้นหาสาเหตุแล้วปรากฏว่าโจทก์แพ้ยาแอมพิซิลีนที่จำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์รับประทานต่อมาตาทั้งสองข้างมีน้ำตาไหลตลอดเวลาจนลืมตาไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการประมาทเลินเล่อสั่งจ่ายยาแอมพิซิลีนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ เป็นผลทำให้โจทก์ต้องสูญเสียดวงตาในการมองเห็น โจทก์พยายามรักษาตลอดมา แต่อาการดังกล่าวไม่หายจนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2531 โจทก์ตาบอดทั้งสองข้าง ไม่สามารถมองเห็นได้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นเกือบทั้งสิ้น ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อผลละเมิดของจำเลยที่ 1 และการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ตกเป็นผู้ยากไร้ขาดรายได้ โจทก์เคยได้รับเงินเดือน ๆ ละ 3,440 บาทหากโจทก์ยังทำงานต่อไปโจทก์จะได้รับค่าจ้างเพิ่มทุกปี และยังได้รับเงินโบนัสตามระเบียบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1ต้องร่วมรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าว โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย 3 ล้านบาทในระหว่างที่โจทก์หยุดงานเพื่อรักษาความเจ็บป่วยนั้น จำเลยที่ 2กลับหักเงินค่าจ้างในวันหยุดของโจทก์จำนวน 208.5 วัน คิดเป็นเงิน18,748 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะหักได้ เพราะมิใช่เป็นการเจ็บป่วยอันเกิดจากตัวโจทก์เอง ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินค่าจ้างที่หักไปเป็นเงิน 18,738 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่เดือนพฤษภาคม 2530 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน3,983.95 บาท รวมเป็นเงินที่ค้างชำระ 22,731.95 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์รวม 3,022,731.95 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 คงรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2522มิใช่วันที่ 11 ตุลาคม 2522 จำเลยที่ 1 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เหตุที่โจทก์มีอาการทางตาและเกิดผื่นคันตามตัว เนื่องจากโจทก์มีโรคประจำตัวและใช้ยาประเภทที่อาจมีผลทางตาและผิวหนัง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 โจทก์มาพบจำเลยที่ 1 ด้วยอาการเยื่อบุตาและคออักเสบ จำเลยที่ 1 ได้ตรวจรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ด้วยความถูกต้องและระมัดระวังอย่างผู้ประกอบวิชาชีพ ได้จ่ายยาแอมพิซิลีน ซึ่งยาแอมพิซิลีนนี้เป็นยาใช้รักษาการอักเสบของคอไม่ใช่ยาที่ให้เพื่อรักษาเกี่ยวกับอาการทางตาแต่อย่างใด โจทก์เคยได้รับยาในกลุ่มยาแอมพิซิลีนไปจากสถานพยาบาลของจำเลยที่ 2ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ถึง 6 ครั้งแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้สอบถามเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาของโจทก์แล้ว โจทก์ยืนยันว่าไม่มีประวัติการแพ้ยาดังกล่าว และโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่า โจทก์มีอาการโรคประจำตัวอะไรบ้าง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคของโรงพยาบาลเมโยซึ่งดูแลรักษาโจทก์ก็ได้ให้ความเห็นยืนยันว่าการป่วยของโจทก์เกิดจากตัวยาชนิดอื่นที่โจทก์รับประทานอยู่ก่อนมารับการรักษาจากจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มีอาการตาอักเสบเรื้อรังตาข้างขวาบอด ข้างซ้ายเห็นพอประมาณ ก็เป็นผลของการเจ็บป่วยที่โจทก์เป็นอยู่ก่อนมารับการรักษาจากจำเลยที่ 1 ยาแอมพิซิลีนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ ก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อยไม่มีผลถึงกับให้เกิดอาการตาบอด จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการใด ๆ อันถือว่าเป็นความประมาทแต่อย่างใด โจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 2 ได้อีกต่อไป จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จไปแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 2 ได้ออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ทั้งหมดตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 เป็นเงินหลายหมื่นบาท และยังได้รับภรรยาโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แทน การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้หักค่าจ้างโจทก์ในช่วงที่เจ็บป่วยเพียง 178 วันครึ่ง คิดเป็นยอดเงินตามฟ้องจำนวน 18,784 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธิหักได้ตามระเบียบข้อบังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ย โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีละเมิดเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ นอกจากนี้โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงานกลางเพราะมิใช่เป็นคดีสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2522
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับค่าเสียหาย 7,000,000 บาท ในส่วนซึ่งเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 64/2531 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยที่ 2 ได้หักเงินเดือนของโจทก์ในวันลาป่วยถูกต้องตามระเบียบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเงินเดือนที่ถูกหักไว้จากจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับค่าเสียหายฐานละเมิดจำนวน 3,000,000 บาท ที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 64/2531ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 วินิจฉัยว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 2 จำนวน จำนวนแรกเป็นเงิน3,000,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์นั้น ไม่ใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานคำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ด้วยว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่าอาการเจ็บป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ว่า ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ป่วยและตาบอดไม่สามารถทำงานได้ การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุ แม้อาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2เมื่ออาการป่วยของโจทก์ถึงขนาดไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยที่ 2ก็เลิกจ้างได้ การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คำวินิจฉัยดังกล่าวจะแปลความได้หรือไม่ว่าศาลแรงงานกลางฟังว่าอาการเจ็บป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเป็นแพทย์ประจำกองแพทย์ฝ่ายช่างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ตรวจรักษาตาของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ตาบอด ขอให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดต่อโจทก์จำนวน3,000,000 บาท ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนคำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2ฐานละเมิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานศาลแรงงานกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ไม่รับวินิจฉัยข้อหานี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าอาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่แม้ศาลแรงงานกลางได้มีกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า “…แม้อาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2…” ถ้อยคำดังกล่าวก็อยู่นอกประเด็นข้อพิพาท อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์ตาบอดเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไป
โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างลาป่วยซึ่งการเจ็บป่วยของโจทก์เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 2จ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2521เอกสารหมาย จ.8 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่าในปีหนึ่งพนักงานลาป่วยได้120 วัน โดยใน 30 วันแรก พนักงานมีสิทธิได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนส่วนที่เกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน พนักงานมีสิทธิได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่ง ส่วนการลาป่วยที่เกิน 120 วัน พนักงานไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน จำเลยที่ 2 ได้หักเงินเดือนของโจทก์ที่ลาป่วยตามระเบียบจำนวน 208.5 วัน เป็นเงิน 18,748 บาท ศาลแรงงานกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ได้หักเงินเดือนของโจทก์ในวันลาป่วยถูกต้องตามระเบียบแล้ว การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ต้องลาป่วยเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดด้วย จำเลยที่ 2จึงหักค่าจ้างในวันลาป่วยไม่ได้นั้น ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยนอกเหนือจากระเบียบของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 11 เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าการเจ็บป่วยของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share